คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1282-1288/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความหมายของมาตรา 94 (2) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น ไม่จำเป็นจะต้องปรากฏว่ามีการสมยอมกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในการกระทำหนี้ขึ้น เพียงแต่ว่าในเวลาที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำหนี้ขึ้น เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็ขอรับชำระหนี้นั้นไม่ได้
ถ้าหนี้เดิมยังเป็นของผู้โอน ผู้โอนก็ย่อมขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อมีการโอนหนี้ดังกล่าวนี้แล้ว ผู้รับโอนย่อมขอรับชระหนี้นั้นได้ เพราะเป็นเพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ขอชำระหนี้ กรณีเช่นนี้ ไม่เข้าตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (2) เพราะเป็นหนี้เดิมที่โอนมา ไม่ใช่เป็นหนี้อันเจ้าหนี้ได้ยอมให้ลูกหนี้ (ผู้ล้มละลาย) กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2502)

ย่อยาว

คดี ๗ สำนวนนี้ เนื่องจากศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ ๗ ราย โดยอ้างว่าเป็นหนี้ซึ่งผู้ร้องได้ชำระแทนผู้ล้มละลาย ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอรับชำระหนี้ทุกราย โดยอ้างว่าเป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.
ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔ (๒)
นายสมจิตต์ผู้ร้อง ฎีกาทั้ง ๗ สำนวน
ที่ผู้ร้องโต้เถียงในฎีกาเป็นทำนองว่า มาตรา ๙๔ (๒) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มุ่งหมายป้องกันมิให้มีการสมยอมระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ล้มละลายเพื่อเพิ่มพูนหนี้สินให้มากขึ้น และในคดีนี้ลูกหนี้เป็นบริษัทอุตสาหกรรมดำเนินงานในชั้นต้นหรือในระยะแรกของการอุตสาหกรรมอาจไม่ได้ผล และบริษัทยังมีหนี้ซึ่งอาจได้รับความกระทบกระเทือน ผู้ร้องได้ให้กู้เงินไปหรือเข้าประกันลูกหนี้เพื่อจะประคองฐานะของบริษัทให้คงอยู่ และเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของลูกหนี้ซึ่งจำเป็น พฤติการณ์ยังไม่พอจะสันนิษฐานว่า เจ้าหนี้ได้รู้ถึงว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะไม่ได้รับชำระหนี้ ตาม มาตรา ๙๔ (๒) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามความหมายของมาตรา ๙๔ (๒) ไม่จำเป็นจะต้องปรากฏว่า มีการสมยอมกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในการกระทำหนี้ขึ้น เพียงแต่ว่าในเวลาที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้น เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็ขอรับชำระหนี้นั้นไม่ได้ ศาลฎีกาฟังขณะที่ผู้ร้องยอมให้บริษัทจำเลยลูกหนี้กระทำหนี้ขึ้นกับคนนั้น ผู้ร้องได้รู้ถึงการที่บริษัทจำเลยลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม มาตรา ๙๔ (๒) แล้ว
่มีปัญหาเรื่องคำขอรับชำระหนี้รายที่ ๕๔๐ ซึ่งเป็นหนี้ที่รับโอนมาจากนางจิต พรหมโยธี จากนางกานดา กรรณสูตร และจากนายโชติ คุณเกษม โดยผู้ล้มละลายได้ทำสัญญาจะขายด้ายให้แก่บุคคลดังกล่าวและรับเงินมัดจำไว้ ครั้นถึงกำหนดผู้ล้มละลายผิดนัดไม่ส่งด้ายให้บุคคลดังกล่าว ไม่ประสงค์จะซื้อด้ายต่อไป ผู้ร้องจึงชำระแทนผู้ล้มละลายเซ็นรับทราบการโอนไว้ การโอนหนี้ดังกล่าวมาแล้ว ที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาแล้ว ลงมติว่าขอรับชำระหนี้ได้โดยเห็นว่าเป็นเพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ขอรับชำระหนี้ ยังเป็นของผู้โอน ผู้โอนก็ย่อมขอรับชำระหนี้ได้อยู่แล้ว กรณีไม่เข้า พ.ร.บ. ล้มละลาย ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔ (๒) เพราะเป็นหนี้เดิมที่โอนมา ไม่ใช่เป็นหนี้อันเจ้าหนี้ได้ให้ยอมลูกหนี้ (ผู้ล้มละลาย) กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว
ส่วนผู้ร้องขอรับชำระหนี้จะได้รับชำระหนี้เท่าไรนั้น เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้ผู้ขอรับชำระหนี้รายที่ ๕๔๐ มีสิทธิขอรับชำระหนี้รายนี้ได้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share