แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินแปลงที่จำเลยอ้างว่าจะนำมาเปรียบเทียบกับราคาที่ดินแปลงที่ถูกเวนคืนของโจทก์ไม่ได้นั้นไม่มีอาณาเขตด้านใดติดทางสาธารณะแต่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนเรื่องที่ผู้ซื้อที่ดินแปลงนั้นจะซื้อไปเพื่อจัดสรรหรือไม่อย่างใดนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะยกขึ้นอ้างว่าราคาที่ซื้อขายกันจะต้องสูงกว่าราคาท้องตลาด เพราะผู้ซื้อซื้อที่ดินไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็เป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง เมื่อปรากฏว่าวันที่ 28 เมษายน 2523 มีการจดทะเบียนขายที่ดินแปลงที่จำเลยอ้างราคาตารางวาละ 900 บาท วันที่ 25กรกฎาคม 2523 มีการจดทะเบียนขายที่ดินใกล้เคียงกันราคาตารางวาละ849 บาท ทั้งตามสำเนาบันทึกการประชุมของคณะกรรมการปรองดองฯของจำเลยก็ยอมรับว่าการซื้อขายที่ดินบริเวณนี้น่าจะมีแนวโน้มของราคาตลาดค่อนข้างสูง ราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกันราคาซื้อขายที่ดินแปลงที่จำเลยอ้างเฉลี่ยตารางวาละ 900บาท จึงเป็นราคาที่ซื้อขายในท้องตลาด ดังนั้นที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกันน่าจะมีราคาใกล้เคียงกัน ดังนั้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2523อันเป็นวันที่ พระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ มีผลใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในท้องตลาดตารางวาละ 900 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5753ตำบลบางเชือกหนังฝั่งใต้ อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 6 ไร่ 29 ตารางวา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2523 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดงบางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทอง ตอนพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 จำเลยทั้งสองได้กำหนดราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ โดยไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามกฎหมายโดยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์สำหรับที่ดินของโจทก์ซึ่งถูกเวนคืนเนื้อที่ 5 ไร่ 99 ตารางวา ในอัตราเพียงไร่ละ 80,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 419,800 บาท ซึ่งความจริงราคาที่ดินในบริเวณที่ติดกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนซื้อขายกันในราคาท้องตลาดไร่ละ 400,000บาท โจทก์จึงยังขาดค่าทดแทนที่ดินที่ควรจะได้ตามราคาท้องตลาดอยู่อีกจำนวน 1,679,200 บาท จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 2,566,645.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,697,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงคมนาคมมีอำนาจหน้าที่บูรณะและสร้างทางหลวงแผ่นดินทางหลวงจังหวัด มีหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงตลอดจนจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวและเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษ สายพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน – บางบัวทอง ตอนพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนคณะกรรมการปรองดองฯ พิจารณาค่าทดแทนได้พิจารณาให้ในอัตราไร่ละ 80,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดค่าทดแทนโดยถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2523เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เพิ่มอีก 1,469,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3กรกฎาคม 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เสีย
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 900 บาท นั้นสูงเกินไปหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจะถือเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 5750ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์แปลงที่ถูกเวนคืน ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีการซื้อขายกันในระยะนั้นในราคาตารางวาละ 1,000 บาท มาพิจารณาเปรียบเทียบกับราคาที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เพราะมิใช่ราคาท้องตลาด เนื่องจากเป็นการซื้อขายโดยมีแรงจูงใจเพื่อนำไปดำเนินการจัดสรรและทำเลที่ดินไม่เหมือนกันเพราะที่ดินแปลงนั้นติดทางสาธารณะ ศาลฎีกาได้ตรวจรูปแผนที่ที่ดินของโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีอาณาเขตด้านใดอยู่ติดทางสาธารณะแต่อย่างใด และตรวจดูสำเนาโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามเอกสารเอกสารหมาย จ.3 ประกอบแล้ว กลับปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงนี้อยู่ติดกัน โดยที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ดินแปลงนั้นส่วนเรื่องที่ผู้ซื้อที่ดินแปลงนั้นจะซื้อไปเพื่อจัดสรรหรือไม่อย่างใดนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะยกขึ้นอ้างว่า ราคาที่ซื้อขายกันนั้น จะต้องสูงกว่าราคาท้องตลาด เพราะผู้ซื้อซื้อที่ดินไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็เป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2523 มีการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5750 ราคาเฉลี่ยตารางวาละ 900 บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมายจ.5 ถึง จ.7 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 มีการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5752 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ราคาเฉลี่ยตารางวาละ 849 บาท ทั้งตามสำเนาบันทึกการประชุมคณะกรรมการปรองดองฯ เอกสารหมาย ล.5 ของจำเลยก็ยอมรับว่าการซื้อขายที่ดินบริเวณนี้น่าจะมีแนวโน้มของราคาตลาดค่อนข้างสูงแต่ที่ปรากฎหลักฐานก่อนปีออกพระราชกฤษฎีกาฯ เฉลี่ยตารางวาละ 809.25บาท เห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกันราคาซื้อขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 5750 เฉลี่ยตารางวาละ 900 บาท จึงเป็นราคาที่ซื้อขายในท้องตลาด ดังนั้นที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5750 น่าจะมีราคาใกล้เคียงกัน จึงเชื่อว่าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2523 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษ สายพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน- บางบัวทอง ตอนพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 มีผลใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในท้องตลาดตารางวาละ 900บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 900 บาท ชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน