คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จ้างเหมาให้จำเลยที่ 2 สร้างคานเรือโดยมีจำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญาจ้างเหมา โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ใช้ค่าเสียหายตามสัญญาค้ำประกัน และศาลเรียกจำเลยที่ 2 เข้ามาในคดีด้วย ตามคำขอของจำเลยที่ 1 มีผู้อื่นขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยโดยอ้างว่าเป็นผู้รับเหมางานช่วงจากจำเลยที่ 2 อาจถูกไล่เบี้ยได้ ศาลอนุญาต ดังนี้เมื่อฝ่ายจำเลยแพ้คดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยร่วมพลอยต้องร่วมใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยหาได้ไม่ แต่จำเลยร่วมอาจต้องร่วมใช้ค่าธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
ค่าทนายความอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายที่แพ้คดีรับผิดชดใช้ให้แก่ฝ่ายที่ชนะหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นเรื่องที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง คดีที่โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีพนักงานอัยการเป็นทนายให้ เมื่อชนะคดี ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าทนายให้ก็ได้

ย่อยาว

คดีนี้ธนาคารจำเลยที่ ๑ ขอให้เรียกบริษัทจำเลยที่ ๒ เข้ามาในคดีและบริษัทจำเลยร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒ โดยถือเอาคำให้การของจำเลยที่ ๑ และ ๒ เป็นข้อต่อสู้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ ๒ สร้างคานเรือกำหนดให้เสร็จภายใน ๓๐ เดือน ราคาก่อสร้าง ๓๐ ล้านบาท ถ้าทำไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดยอมให้โจทก์ปรับวันละ ๕,๐๐๐ บาท จนกว่าจะเสร็จ และในวันทำสัญญา จำเลยที่ ๒ ต้องวางเงินมัดจำหรือเสนอหนังสือรับรองของธนาคารเป็นเงิน ๑ ล้าน ๕ แสนบาท เพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญา หากปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์จะริบเงินหรือเรียกร้องให้ธนาคารชำระ จำเลยที่ ๑ เข้าทำสัญญาค้ำประกัน หนังสือสัญญาค้ำประกันมีความว่าจำเลยที่ ๑ ยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันภายในวงเงิน ๑ ล้าน ๕ แสนบาท ถ้าจำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาและโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ยอมใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ ๒ ทันที โจทก์ไม่ต้องเรียกร้องจากจำเลยที่ ๒ ก่อน อายุสัญญามีกำหนด ๓ ปี ๖ เดือนเว้นแต่ความผิดตามสัญญายังไม่สิ้นสุด จะโดยเหตุใดก็ตาม อายุสัญญาค้ำประกันจะขยายออกไปแล้วแต่กรณี ครั้นวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้อีกมีความว่า ตามที่จำเลยที่ ๒ ขอรับเงินค่าจ้างเหมางวดที่ ๕ ไปจากโจทก์ ๔ ล้านบาทนั้น หากจำเลยที่ ๒ ต้องถูกปรับเนื่องจากผิดสัญญาเป็นเงินเท่าใด และจำเลยที่ ๒ ไม่สามารถชำระได้จำเลยที่ ๑ ยอมชำระแทนเป็นเงินไม่เกิน ๔ ล้านบาท สัญญามีกำหนดตั้งแต่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๐๗ ถึง ๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ การสร้างคานเรือดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ได้รับเงินค่าจ้างไปจากโจทก์ ๒๙ ล้านบาท เฉพาะเงินงวดที่ ๕ นั้น จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับแทน จำเลยที่ ๒ ได้ขอขยายเวลาทำงานต่อไป และโจทก์อนุมัติให้ ๑๓๖ วัน ดังนั้น จะต้องสร้างให้เสร็จภายใน ๒๙ ธันวาคม ๒๕๐๔ แต่จำเลยที่ ๒ ทำผิดสัญญา จนถึงวันฟ้องก็ยังสร้างไม่เสร็จ จึงต้องถูกปรับวันละ ๕,๐๐๐ บาท รวม ๑,๓๑๐ วัน เป็นเงิน ๖,๕๕๐,๐๐๐ บาท ความเสียหายของโจทก์มากกว่า ๑ ล้าน ๕ แสนบาท ที่จำเลยที่ ๒ ได้มัดจำไว้ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายกับริบมัดจำ ทั้งมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑ ล้าน ๕ แสนบาท ตามสัญญาค้ำประกันฉบับแรก เพื่อริบเป็นค่าเสียหาย โจทก์เรียกร้องต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ เพิกเฉย จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับ ๔ ล้านบาท ตามสัญญาค้ำประกันฉบับหลัง เพื่อให้ริบตามสัญญาและชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์เรียกร้องแล้วจำเลยที่ ๑ ก็เพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๕ ล้าน ๕ แสนบาท กับดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยที่ ๑ หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้ว โจทก์ควรฟ้องจำเลยที่ ๒ โดยตรงด้วย จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยที่ ๒ เข้ามาเป็นจำเลยด้วย ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา แต่เป็นความผิดของโจทก์เอง
จำเลยร่วมทั้งสองร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วย โดยอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ได้จ้างเหมาช่วงให้จำเลยร่วมเป็นผู้ทำการสร้างคานเรือ ตามสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ทำกันไว้ ในการก่อสร้างนี้ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ต่อโจทก์ ถ้าจำเลยที่ ๑ แพ้คดี จำเลยที่ ๑ ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ ๒ ได้ และจำเลยร่วมทั้งสองอาจถูกไล่เบี้ยได้เช่นเดียวกัน จึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จำเลยร่วมที่ ๑ และจำเลยร่วมที่ ๒ ร่วมกันใช้เงิน ๑ ล้าน ๕ แสนบาทตามสัญญาค้ำประกันกับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ ๒ จำเลยร่วมที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันใช้เงิน ๔ ล้านบาทฐานผิดสัญญารับเหมาก่อสร้าง กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ในกรณีที่จำเลยที่ ๒ จำเลยร่วมที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ก็ให้จำเลยที่ ๑ ใช้แทนในฐานะผู้ค้ำประกัน
จำเลยทั้งหมดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งหมดฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น และวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีมูลกรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ไม่ก่อสร้างคานเรือให้เสร็จตามสัญญาจ้างเหมาที่โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ทำไว้ต่อกัน และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้ใช้ค่าเสียหายตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ขอให้เรียกจำเลยที่ ๒ ผู้กระทำผิดสัญญาจ้างเหมาอันเป็นมูลกรณีเข้ามาในคดีด้วย และศาลอนุญาตแล้ว ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ แต่จำเลยร่วมทั้งสองนั้นร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยข้ออ้างว่าเป็นผู้รับเหมางานช่วงจากจำเลยที่ ๒ อีกทอดหนึ่ง ถ้าจำเลยที่ ๑ แพ้คดี จำเลยที่ ๑ ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมทั้งสองก็อาจถูกไล่เบี้ยได้เช่นเดียวกัน ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า ความผูกพันดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ในระหว่างจำเลยทั้งสองกับจำเลยร่วมด้วยกันเองโดยเฉพาะ ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองหาได้มีนิติสัมพันธ์กันแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แพ้คดี จะมีผลพลอยให้จำเลยร่วมทั้งสองต้องใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หาได้ไม่โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าตนถูกจำเลยร่วมทั้งสองโต้แย้งสิทธิของตน แม้จำเลยร่วมทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยแล้ว
ข้อที่โจทก์กล่าวในคำแก้ฎีกาว่า การที่พนักงานอัยการเป็นทนายให้รัฐ (ซึ่งโจทก์คดีนี้เป็นองค์การรัฐวิสาหกิจ) เมื่อรัฐบาลชนะคดี ฝ่ายที่แพ้ก็ควรจะมีหน้าที่ใช้ค่าทนายแทนรัฐบาลด้วยนั้น เห็นว่าค่าทนายความอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม ศาลจะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ให้แก่ฝ่ายที่ชนะคดีหรือไม่เพียงใดนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นสมควรให้ค่าทนายโจทก์คดีนี้เป็นพับนั้น เป็นดุลพินิจของศาลล่าง ศาลฎีกาไม่พึงแก้ไข
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เฉพาะในข้อที่ให้จำเลยร่วมที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมใช้เงินแก่โจทก์ฐานผิดสัญญารับจ้างก่อสร้งและตามสัญญาค้ำประกันนั้นให้ยกเสีย นอกนั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยร่วมทั้งสองใช้ค่าทนายในชั้นฎีกาแทนโจทก์สามหมื่นบาทด้วย

Share