คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278-1279/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้แก่ผู้เสียหายแยกเป็นรายฉบับรวม 17 ฉบับ ลงวันที่ในเช็คต่างกันไปฉบับละ 1 เดือน โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเมื่อเช็คเหล่านี้ถึงกำหนดชำระเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นนี้ จำเลยมีเจตนาที่จะให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2520)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนว่า เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๖ จำเลยทั้งสองสำนวนร่วมกันสั่งจ่ายเช็คเงินสดของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขามหาพฤตาราม ตั้งแต่ฉบับเลขที่ BBC ๑๔๕๙๒๑ ถึงเลขที่ BBC ๑๔๕๙๓๗ รวม ๑๗ ฉบับ เป็นเงินฉบับละ ๔,๐๐๐ บาท แต่ละฉบับลงวันที่สั่งจ่ายทุกวันที่ ๑ ของเดือน โดยฉบับแรกลงวันที่สั่งจ่าย ๑ มกราคม ๒๕๑๗ และฉบับสุดท้ายลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๖๘,๐๐๐ บาท ให้แก่นายบุญชัย บรรพวาณิชย์ เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าต่อตัวถังรถยนต์ ครั้นเมื่อถึงกำหนดตามวันที่สั่งจ่ายในเช็คแต่ละฉบับ นายบุญชัย บรรพวาณิชย์ได้นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินต่อธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันออกเช็คทุกฉบับโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ ๘ เดือน
โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม ๑๗ กรรม ขอให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ (แก้ไขโดยฉบับที่ ๘ พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๖) ไม่รับวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายต่อตัวถังรถยนต์โดยสารเป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ครั้นเมื่อทำเสร็จแล้ว นายสุวิช จำเลยชำระค่าจ้างให้ ๕๒,๐๐๐ บาท และขอรับรถไปใช้ก่อน ต่อมาผู้เสียหายไปทวงถามค่าจ้างที่ค้างจำเลยว่าจะสั่งจ่ายเช็คให้ แต่ก็ขอผัดผ่อนเรื่อยมา ผู้เสียหายจึงออกอุบายว่า รถยนต์ยังทำไม่เรียบร้อยให้นำมาซ่อมแซมใหม่ เมื่อคนขับรถของจำเลยนำรถยนต์ไปให้ซ่อมแซมผู้เสียหายจึงยึดรถยนต์ไว้ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๖ ตอนเช้า นายชูชัย จำเลยได้เบิกเช็คมาจากธนาคารเล่มหนึ่ง ต่อมาไม่ถึงชั่วโมง นายชูชัยจำเลยได้แจ้งอายัดเช็คทั้งเล่มต่อธนาคารอ้างว่าหายไป เย็นวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยทั้งสองใช้เช็ค ๑๗ ฉบับตามฟ้องอันเป็นเล่มเดียวกับที่ได้แจ้งอายัดต่อธนาคารไว้ สั่งจ่ายเงินชำระหนี้ค่าจ้างต่อตัวถังรถยนต์ที่ยังค้างอยู่แก่ผู้เสียหายโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็ค ๑๗ ฉบับนั้น ผู้เสียหายนำเช็คไปเบิกเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่าได้พิจารณาแล้ว แม้จำเลยจะได้แจ้งอายัดเช็คทุกฉบับไว้ต่อธนาคารแล้วก่อนที่จะสั่งจ่ายเช็ครายนี้ชำระหนี้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้แก่ผู้เสียหายแยกเป็นรายฉบับรวม ๑๗ ฉบับ โดยลงวันที่ในเช็คต่างกันไปฉบับละ ๑ เดือน เมื่อเช็คเหล่านี้ถึงกำหนดชำระเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นนี้ ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ตามพฤติการณ์ของคดีสมควรวางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงความผิดละ ๑ เดือน รวม ๑๗ กระทงเป็น ๑๗ เดือน
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ คงจำคุกคนละ ๑ ปี ๕ เดือน นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share