คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าแผนกการเงินมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้พนักงานการเงินนำค่าโดยสารเก็บเข้าตู้เซฟ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานการเงินมีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานการเงินแทนจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 มิได้มาปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นเหตุให้พนักงานการเงินยักยอกเงินค่าโดยสารของโจทก์ไป ทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองบกพร่องต่อหน้าที่อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานในการควบคุมดูแลพนักงานการเงิน มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาปรับแก่คดีไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าแผนกการเงิน กองธุรการและการเงิน มีหน้าที่ควบคุมดูแลรายรับรายจ่ายของเขตการเดินรถที่ ๔ รวมทั้งควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พนักงานการเงินซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชานำเงินค่าโดยสารที่ได้รับจากพนักงานเก็บค่าโดยสารแต่ละวันเก็บเข้าตู้เซฟและปิดตู้เซฟเพื่อป้องกันการสูญหาย พร้อมทั้งเก็บกุญแจตู้เซฟไว้ จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานการเงินซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่รับเงินค่าโดยสารจากพนักงานเก็บค่าโดยสารที่จำหน่ายตั๋วโดยสารได้แต่ละวันและได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแทนจำเลยที่ ๑ ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ มิได้มาปฏิบัติหน้าที่ แต่จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบของโจทก์ จำเลยที่ ๑แบ่งให้พนักงานการเงินเพื่อทำหน้าที่รับเงินค่าโดยสารจากพนักงานเก็บค่าโดยสารออกเป็น ๒ ผลัด คือผลัดกลางวันและกลางคืน ซึ่งตามระเบียบหลังจากที่พนักงานการเงินรับเงินค่าโดยสารมาแล้ว จำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๒ ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ มิได้มาปฏิบัติหน้าที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พนักงานการเงินทุกคนนำเงินค่าโดยสารดังกล่าวเก็บไว้ในตู้เซฟและเป็นผู้ปิดตู้เซฟด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการทุจริตในวันที่ ๗, ๘, ๙ เมษายน ๒๕๒๑ จำเลยทั้งสองได้มาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา ๑๙ นาฬิกา ถึง ๒ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเว้นแต่ในวันที่ ๗ จำเลยที่ ๑ มิได้มาปฏิบัติหน้าที่แต่มอบหมายให้จำเลยที่ ๒ มาแทนจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดเป็นเหตุให้นายสิริวัฒน์พนักงานการเงินยักยอกเงินค่าโดยสารไป ๗๙,๖๐๖.๕๐ บาท และหลบหนีไป ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงินคนละ ๓๙,๘๐๓.๒๕ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกร้องภายใน ๑ ปีคดีนี้เป็นคดีละเมิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว การที่จำเลยที่ ๑ มาทำงานตั้งแต่เวลา ๑๙ นาฬิกาถึง ๒ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเป็นการมาปฏิบัติงานนอกเวลาเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยเท่านั้น ไม่มีระเบียบให้พนักงานการเงินทำงานถึง ๑๘ชั่วโมงการที่นายสิริวัฒน์ยักยอกเงินของโจทก์ไม่มีผู้ใดทราบ เนื่องจากโจทก์จัดสถานที่ให้พนักงานรับเงินไว้ไม่ปลอดภัย มิใช่เป็นความผิดของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่พึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีจึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามสัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยทั้งสองทำผิดหน้าที่อันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔หาใช่เป้นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด ซึ่งมีอายุความ ๑ ปี ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ พิเคราะห์แล้วโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าแผนกการเงินมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้พนักงานการเงินนำเงินค่าโดยสารที่ได้รับจากพนักงานเก็บค่าโดยสารแต่ละวันเก็บเข้าตู้เซฟเพื่อป้องกันการสูญหาย จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานการเงินซึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานการเงินแทนจำเลยที่ ๑ ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ มิได้มาปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นเหตุให้พนักงานเก็บเงินยักยอกเงินค่าโดยสารของโจทก์ไป คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดหน้าที่ บกพร่องต่อหน้าที่อันเกิดแต่สัญญาจ้างแรงงานในการควบคุมดูแลพนักงานการเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑)มิใช่คดีฟ้องเรื่องละเมิด จึงจะนำอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ มาปรับแก่คดี ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหาได้ไม่
เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จึงมีประเด็นที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามฟ้องโจทก์หรือไม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาเฉพาะประเด็นข้อ ๓ แล้วมีคำพิพากษาใหม่.

Share