คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12711/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นหนี้อุปกรณ์ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน หรือยังมีหนี้ประธานที่ผู้ให้กู้ยังไม่ได้รับชำระหนี้ กล่าวคือยังคงมีหนี้ประธานอยู่ การที่โจทก์ได้ยื่นฟ้อง บ. ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธาน โจทก์กับ บ. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมทำให้หนี้ประธานคือหนี้กู้ยืมระงับ เกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 เมื่อหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานระงับ จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่จะต้องใช้เงินแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 698

(ประชุมครั้งที่ 9/2558)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 10,173,654.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 5,679,232.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 10,173,654.84 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 5,679,232.08 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 27 ธันวาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า สืบเนื่องมาจากนายบุญเต็ม ได้กู้เงินโจทก์โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ โดยมีจำเลยทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจะชำระหนี้ต้นเงินภายในวงเงิน 5,000,000 บาท ต่อมานายบุญเต็มผิดสัญญา โจทก์ได้ฟ้องนายบุญเต็มต่อศาลแพ่ง โจทก์กับนายบุญเต็มทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม จากนั้นนายบุญเต็มชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วนตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2545 รวม 861,024.29 บาท แล้วไม่ชำระอีก โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันใช้เงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินของนายบุญเต็มต่อโจทก์เปลี่ยนเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ด้วย เนื่องจากหนี้ของนายบุญเต็มตามสัญญากู้ยืมเงินระงับสิ้นไปแล้วนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นหนี้อุปกรณ์ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน หรือยังมีหนี้ประธานที่ผู้ให้กู้ยังไม่ได้รับชำระหนี้ กล่าวคือยังคงมีหนี้ประธานอยู่ การที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายบุญเต็มให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธาน โจทก์กับนายบุญเต็มทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมทำให้หนี้ประธานคือหนี้กู้ยืมระงับ เกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เมื่อหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานระงับ จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่จะต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share