คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินได้จากการโอนสิทธิการเช่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) เพราะเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40 (1) ถึง (7) และมิใช่เป็นสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) เพราะมิใช่สิทธิที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์ดังที่ระบุไว้ในอนุมาตราดังกล่าว
การโอนสิทธิการเช่ามิใช่เป็นการขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 8 (25) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2520 เพราะการขายของตามมาตราดังกล่าวหมายถึงการขายของที่เป็นวัตถุที่มีรูปร่าง แม้เงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) โจทก์ก็ไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 80 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า มีร้านค้าชื่อร้านลิ้มฮ่งเซ้ง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ขายของเบ็ดเตล็ดและเครื่องใช้ที่ทำด้วยพลาสติก ในปีพ.ศ. ๒๕๒๐ โจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าตึกแถวเลขที่ ๙๕๐ ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร ให้บุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทนโดยมิได้มุ่งการค้าหรือหากำไร ต่อมาวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๕ ในฐานะเจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. ๒๕๒๐ ถึงโจทก์ โดยจำเลยที่ ๕ นำเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าในราคา ๙๘๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินได้พึงประเมิน โจทก์ไม่เห็นชอบด้วยจึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวเพราะเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าโดยมีค่าตอบแทนนั้นเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๒ (๙) โดยเป็นการขายทรัพย์สินซึ่งมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา ๔๐ (๘) ซึ่งนำมาหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ ๘๐ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่๗๐) พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๔ การประเมินของจำเลยที่ ๕ และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๓ เพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า เงินได้จากการโอนสิทธิการเช่า จำเลยที่ ๕ มิได้ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐ (๘) แต่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา ๔๐ (๓) ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๔๒ ตรี ทั้งไม่มีกรณีที่เป็นข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ การโอนสิทธิการเช่ามิใช่เป็นการขายของตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า ๑เพราะสิทธิมิใช่สินค้าโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอหักค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่๗๐) พ.ศ. ๒๕๒๐ และเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม มาตรา ๔๒ (๙) การขายทรัพย์สินโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เพราะการโอนสิทธิการเช่า เป็นเงินได้พึงประเมินค่าประเภทสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา ๔๐ (๓) อีกทั้งผู้มีเงินได้ที่จะได้รับการยกเว้นตาม ม.๔๒ (๙)ต้องแสดงรายการเงินได้จากการขายทรัพย์สินไว้ในข้อ ๑๐ แห่ง ภ.ง.ด.๙ แต่โจทก์ไม่ได้แสดงรายการแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาว่าการโอนสิทธิการเช่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐ (๘), ๔๐ (๓) หรือ ๔๒ (๙) และจะหักค่าใช้จ่ายได้เพียงใดหรือไม่นั้น เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่ารายพิพาทเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๓) นั้น มาตรา ๔๐ (๓)ระบุค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น ฯลฯ คำว่าสิทธิอย่างอื่น หมายถึงสิทธิที่มีลักษณะทำนองเดียวกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์หรือค่าแห่งสิทธิ์ สิทธิการเช่าดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิอย่างอื่น ตามมาตรา ๔๐ (๓) ส่วนการโอนสิทธิการเช่าเป็นการขายทรัพย์สินตามมาตรา ๔๒ (๙) หรือไม่นั้น ปรากฏว่า โจทก์มิได้แสดงรายการเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าไว้ในข้อ ๑๐ แห่ง ภ.ง.ด.๙ โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘) ถือเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๐ (๑) – (๗) เมื่อเงินได้จากการโอนสิทธิการเช่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘) โจทก์จะมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๘๐ ตามพระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่๗๐) พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยการโอนสิทธิการเช่าเป็นการขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิตตามมาตรา ๘ (๒๕) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหรือไม่นั้น เห็นว่า การโอนสิทธิการเช่าไม่เป็นการขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้จายมิได้เป็นผู้ผลิตเพราะการขายของตามมาตรา ๘ (๒๕) นี้ หมายถึงการขายของที่เป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ฯ หารวมถึงสิทธิการเช่าไม่ ทั้งตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า ๑ การขายของแยกเป็นชนิดต่าง ๆ ก็ไม่มีข้อความระบุถึงสิทธิการเช่าอันจะบ่งชี้ว่าการโอนสิทธิการเช่าเป็นการขายของชนิดหนึ่งเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายร้อยละ ๘๐ ดังกล่าวอ้าง
พิพากษายืน.

Share