คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีข้อตกลงว่า หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อจะดำเนินการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร เมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อ จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เห็นได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมีเงื่อนไขที่โจทก์จะต้องไปขอสินเชื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย สถาบันการเงินหรือธนาคารจะให้กู้หรือไม่เป็นเรื่องไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินหรือธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา หากสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่ให้กู้ สัญญาจะซื้อจะขายย่อมไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารถึงสองธนาคาร แต่ธนาคารทั้งสองแห่งไม่อนุมัติ เงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นผล สัญญาไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้ แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดช่วงเวลาหรือจำนวนสถาบันการเงินหรือธนาคารที่โจทก์จะดำเนินการขอสินเชื่อ โจทก์จึงยังอาจดำเนินการขอสินเชื่อได้อีก ไม่ใช่เรื่องพ้นวิสัย แต่ก็ไม่แน่นอนว่าการดำเนินการขอสินเชื่อจะได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินหรือธนาคารใดหรือไม่ เมื่อไร ทั้งการดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารมาสองแห่งแล้ว ถือว่าโจทก์ขวนขวายดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาตามสมควรแล้ว กรณีมิใช่ว่าโจทก์จะต้องดำเนินการขอสินเชื่อเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของคู่สัญญา เมื่อโจทก์พยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาแล้วแต่ไม่สำเร็จไม่สามารถนำเงินมาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือได้ จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ผิดนัดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบมัดจำ ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายระบุไว้ว่า เงินส่วนที่ค้างชำระอยู่อีกจำนวน 50,000,000 บาท ผู้จะขายตกลงที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จะซื้อในการกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้อบังคับของสถาบันการเงินหรือธนาคาร เมื่อสถาบันการเงินหรือธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อแล้วภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้จะซื้อได้แจ้งผลการพิจารณาของสถาบันการเงินหรือธนาคารให้แก่ผู้จะขายทราบ ผู้จะขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในทรัพย์ที่จะขายตามข้อ 1 ให้แก่ผู้จะซื้อทันที ในวันเดียวกับผู้จะซื้อได้ลงนามในสัญญากู้เงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวต่อสถาบันการเงินหรือธนาคาร โดยสถาบันการเงินหรือธนาคารจะเป็นผู้ออกตั๋วอาวัล หรือตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 จำนวนเงิน15,000,000 บาท ภายในกำหนด 24 เดือน นับแต่วันที่สถาบันการเงินออกตั๋วอาวัล หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับที่ 2 จำนวนเงิน 15,000,000 บาท ภายในกำหนด 24 เดือน นับแต่วันที่สถาบันการเงินออกตั๋วอาวัลหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับที่ 3 จำนวนเงิน 20,000,000 บาท ภายในกำหนด 24 เดือน นับแต่วันที่สถาบันการเงินออกตั๋วอาวัล หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงเห็นได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมีเงื่อนไขที่โจทก์จะต้องไปขอสินเชื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย สถาบันการเงินหรือธนาคารจะให้กู้หรือไม่เป็นเรื่องไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินหรือธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา หากสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่ให้กู้ สัญญาจะซื้อจะขายย่อมไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ ตามข้อเท็จจริงโจทก์ไม่ได้เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามสัญญาจะซื้อจะขาย แต่โจทก์ได้ดำเนินการเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว แต่ธนาคารทั้งสองแห่งไม่อนุมัติเงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นผล สัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้ แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดช่วงเวลาหรือจำนวนสถาบันการเงินหรือธนาคารที่โจทก์จะดำเนิน การขอสินเชื่อ โจทก์จึงยังอาจดำเนินการขอสินเชื่อได้อีกไม่ใช่เรื่องพ้นวิสัย แต่ก็ไม่แน่นอนว่าการดำเนินการขอสินเชื่อจะได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินหรือธนาคารใดหรือไม่ เมื่อไร ทั้งการดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารมาสองแห่งแล้ว ถือว่าโจทก์ขวนขวายดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาตามสมควรแล้ว กรณีมิใช่ว่าโจทก์จะต้องดำเนินการขอสินเชื่อเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของคู่สัญญา เมื่อจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวถึงโจทก์ว่าหากโจทก์ไม่ดำเนินการใดๆ หรือไม่แล้วเสร็จ หรือไม่แจ้งการขอทำนิติกรรมการโอนแก่จำเลยภายในกำหนดถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ประสงค์ที่จะผูกพันตามสัญญาต่อกันอีกให้ถือว่าสัญญาเลิกกัน ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยว่าโจทก์ยังประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญา ยังมิได้ผิดนัดผิดสัญญา เนื่องจากโจทก์ต้องรอการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร แต่เมื่อต่อมาธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา และขอเงินมัดจำคืนจากจำเลย ซึ่งตามข้อเท็จจริงหลังจากนั้นโจทก์มิได้ดำเนินการขอสินเชื่ออีก และยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์และจำเลยได้แสดงเจตนาตกลงให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ถือว่าโจทก์ผิดนัดผิดสัญญายินยอมให้จำเลยริบเงินมัดจำนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์พยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาจะซื้อจะขายแล้วแต่ไม่สำเร็จโจทก์จึงไม่สามารถนำเงินมาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือได้จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ ดังนั้นโจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กันยายน 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share