คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่สามีจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์สินเดิมของตนอันเป็นสินบริคณห์ระหว่างสามีภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1462 ด้วยการยกให้โดยเสน่หานั้น จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากภรรยาตามมาตรา 1473 และ 1476 ประกอบด้วย 525 และ 456
คดีมีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายได้ยินยอมให้ผู้ตายยกอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสินเดิมของผู้ตายให้แก่ผู้อื่นโดยเสน่หาหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ทั้งคดีไม่มีประเด็นว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคมหรือเป็นการจำหน่ายเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวหรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องชักสินสมรสไปใช้สินเดิมดังกล่าวของผู้ตายก่อน
การแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625(1)จะไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1476 มาใช้ด้วย แต่มาตรา 1476 เป็นบทบังคับในเรื่องแบบของความยินยอม อันจะนำไปสู่บทบัญญัติเรื่องจะนำสินสมรสใช้คืนสินเดิมของคู่สมรสที่หย่าขาดจากกันได้หรือไม่เพียงใด ศาลย่อมยกขึ้นปรับกับคดีได้ หาเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1625(1) ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกผันและนางเอื้อนซึ่งสมรสกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ และได้หย่าร้างกันเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๒ นาวาเอกผัน ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ ๑ เป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกผัน จดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นบุตรจำเลยที่ ๑ อันเกิดกับนาวาเอกผัน จำเลยที่ ๑ ไม่มีสินเดิม ส่วนนาวาเอกผันมีสินเดิม คือที่ดินโฉนดที่ ๒๓๔๑ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางเอื้อน ต่อมาได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ นาวาเอกผันเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โฉนดใหม่เลขที่ ๑๓๑๒๕ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ นาวาเอกผันโดยความเห็นชอบของจำเลยที่ ๑ ได้ยกที่ดินสินเดิมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ ๒,๓ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้มีราคาขณะนาวาเอกผันถึงแก่กรรมไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐.๐๐๐ บาท และในระหว่างนาวาเอกผันจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภรรยากันได้มีสินสมรสเกิดขึ้น คงเหลืออยู่ขณะถึงแก่กรรมและอยู่ในความครอบคอรงของจำเลยตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องราคาประมาณ ๑,๓๙๔,๐๐๐ บาท ซึ่งตามกฎหมายจะต้องนำไปใช้สินเดิมที่ขาดไป แต่เนื่องจากมีราคาไม่พอใช้สินเดิมสินสมรสทั้งหมดจึงเป็นทรัพย์มรดกอันต้องนำมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสาม โดยโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหนึ่งในสี่ ซึ่งขอตีราคาเป็นเงิน ๓๔๘,๐๐๐ บาท จำเลยไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ จึงขอให้พิพากษาว่าโจทก์ส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ ๑ ถึง ๘ หนึ่งในสี่ส่วนหากตกลงแบ่งไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ และให้จำเลยแบ่งเงินค่าเช่าทรัพย์อันดับ ๔ เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามในการทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกผัน ไม่มีสิทธิรับมรดก จำเลยที่ ๑มีสินเดิม ส่วนนาวาเอกผันไม่มี ที่ดินโฉนดที่ ๑๓๑๒๕ มิใช่สินเดิมของนาวาเอกผัน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวปลูกสร้างขึ้นใหม่หลังจำเลยที่ ๑ สมรสกับนาวาเอกผันแล้ว มีราคารวมกันไม่ถึงจำนวนตามฟ้อง ที่นาวาเอกผันยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๑๒๕ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยให้ความยินยอม และได้ให้เป็นสิทธิเด็ดขาดไปแล้วก่อนตาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องมีราคาไม่ต่ำกว่า ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท และหากมีอยู่ก็ตกเป็นสิทธิแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาททั้งสิ้น โจทก์แกล้งตีราคาต่ำลงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ไม่เคยขอแบ่งมรดก ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง และแม้จะมีสิทธิก็ไม่ได้ส่วนแบ่งตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า
๑. โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกนาวาเอกผันผู้ตาย โดยโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเกิดกับนางเอื้อน
๒.ที่ดินโฉนดที่ ๑๓๑๒๕ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง เป็นสินเดิมของผู้ตาย ขณะผู้ตายยกให้และขณะผู้ตายถึงแก่กรรมมีราคา ๑,๒๖๐,๐๐๐ บาท และ
๓. ในการสมรสระหว่างผู้ตายและจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ มีสินเดิมและทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ ๑
คู่ความคงโต้เถียงและนำสืบพยานกันเพียงข้อเดียวว่า การที่นาวาเอกผันผู้ตายยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามข้อ ๒ ข้างต้นให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓นั้น ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ หรือไม่ ส่วนข้อเท็จจริงอื่น นอกจากนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามนำสินสมรสตามบัญชีทรัพย์ ๙ อันดับท้ายฟ้องมาใช้สินเดิมของนาวาเอกผันเป็นเงิน ๑,๒๖๐,๐๐๐ บาท แล้วให้แบ่งทรัพย์หรือเงินสินเดิมแก่โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน กับแบ่งสินสมรสที่เหลือให้โจทก์อีก ๑ใน ๘ ส่วน การนำสินสมรสมาใช้สินเดิม และการแบ่งทรัพย์มรดก ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ให้ประโยชน์ราคาระหว่างกัน ถ้าประมูลราคากันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาแบ่งกันตามส่วน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะแบ่งมรดกให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องออกเป็น ๒ ส่วนเท่ากัน ให้จำเลยที่ ๑ ได้หนึ่งส่วน อีกส่วนหนึ่งที่เหนือนั้นให้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนเท่ากัน ให้โจทก์และจำเลยทั้งสามได้คนละ ๑ ส่วน ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาดแล้วนเงินสุทธิมาแบ่งกันมาส่วนแต่แล้ว และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินค่าเช่าที่ดิน ๒,๕๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกผัน เกิดกับนางเอื้อนภรรยาเดิมซึ่งหย่าร้างกันไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๓ นาวาเอกผันสมรสกับจำเลยที่ ๑โดยต่างมีสินเดิม ได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกันคือ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และมีสินสมรสเกิดขึ้นตามรายการในบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๑๒๕ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเป็นสินเดิมของนาวาเอกผันและเป็นที่ที่นาวาเอกผันได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๔๑ ซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่กับนางเอื้อนภรรยาเดิม นาวาเอกผันได้ยกให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยเสน่หาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ส่วนที่ดินโฉนดที่ ๒๓๔๑ ที่เหลือจากแบ่งแยกอันเป็นส่วนของนางเอื้อน นางเอื้อนโอนยกให้แก่โจทก์ในปีเดียวกันนั้น ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๔ นาวาเอกผันถึงแก่กรรม โจทก์จึงฟ้องขอแบ่งมรดกเป็นคดีนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า การที่สามีจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เดิมของตนอันเป็นบริคณห์ระหว่างสามีภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๒ ด้วยการยกให้โดยเสน่หานั้น จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากภรรยาตามมาตรา ๑๔๗๓ และ ๑๔๗๖ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒๕ และ ๔๕๖ และในคดีนี้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่าความยินยอมได้ทำเป็นหนังสือ ข้ออ้างจึงเลื่อนลอยฟังไม่ได้ คดีต้องฟังว่าผู้ตายยกที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ ๒ที่ ๓ โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และเป็นว่าปัญหาเรื่องความยินยอมเป็นประเด็นมาแต่แรกเริ่มและเป็นประเด็นที่คู่ความติดใจโต้แย้งประเด็นเดียวในคดี ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายบัญญัติว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาคดีให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายได้ ทั้งคดีไม่มีประเด็นว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม หรือเป็นการจำหน่ายเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวหรือไม่ จึงไม่มีปัญหาว่าจะต้องชักสินสมรสใช้สินเดิมได้ เพราะกรณีต้องด้วยเหตุดังกล่าวหรือไม่ เมื่อคดีฟังว่าได้มีการจำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของจำเลยที่ ๑จึงจะให้ใช้คืนจากสินสมรสไม่ได้ ส่วนโจทก์ฎีกาโต้แย้งด้วยว่าส่วนแบ่งการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๕(๑) บัญญัติให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินโดยความยินยอม และบัญญัติโดยเฉพาะต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๕๑๓ ถึง ๑๕๑๗ ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา ๑๔๕๘ ถึง ๑๔๘๗ มาใช้บังคับ ศาลอุทธรณ์จึงยกมาตรา ๑๖๔๒,๑๔๗๖ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒๔,๔๕๖ มาบังคับใช้ไม่ได้นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๕ เป็นบทบังคับในเรื่องแบบของความยินยอม อันจะนำไปสู่บทบัญญัติเรื่องจะนำสินสมรสใช้คืนสินเดิมของคู่สมรสที่หย่าขาดจากกันได้หรือไม่เพียงใด หาใช่เป็นกรณีหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา ๑๖๒๕(๑) ดังโจทก์ฎีกาโต้แย้งไม่
พิพากษายืน

Share