คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,80 ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม มาตรา 297ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับความผิดตามมาตรา 297 จึงมีผลเท่ากับ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่า โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์จึงฎีกาข้อหาพยายามฆ่าในปัญหา ข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกาย บาดเจ็บสาหัสตามมาตรา 297 ซึ่งศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับกันมา

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ประกอบมาตรา 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 6ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 72 จำคุก 1 ปี ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยกศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 72 ด้วย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อหามีอาวุธปืนโดยไม่ได้อนุญาตคงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยเพียงฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 และศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยอาศัยข้อเท็จจริงโจทก์จึงฎีกาข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับกันมา” ฯลฯ
“และนอกจากนี้ข้อที่จำเลยอ้างว่าขณะเกิดเหตุปืนลั่นเพราะมีการแย่งปืนกันนั้นก็ได้ความจากตัวจำเลยเองว่าขณะเสียงปืนดัง มือจำเลยยังกำด้ามปืนอยู่ซึ่งแสดงว่าโกร่งไกปืนอยู่ทางด้านจำเลยอย่างไม่มีปัญหา ดังนั้นเองแม้หากจะเป็นดังจำเลยอ้างการที่ผู้เสียหายจะไปเหนี่ยวไกปืนซึ่งอยู่ด้านจำเลยย่อมเป็นไปได้ยากมาก แต่น่าจะเป็นเรื่องที่นิ้วจำเลยอยู่ในโกร่งไกปืนของจำเลยเองมากกว่า ดังนั้นเสียงปืนที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการที่จำเลยยิงปืนอย่างไม่มีปัญหาและการที่จำเลยกดมือที่ถือปืนลงและยิงขาผู้เสียหายถึง 2 นัดถูกที่ขาซ้ายและก้นข้างซ้าย จนผู้เสียหายต้องทำการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ถึง 1 เดือน แต่จนปัจจุบันก็ยังทำงานไม่ได้ตามปกติการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส และไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจากผู้เสียหายแต่เป็นเรื่องที่จำเลยโกรธผู้เสียหายเองโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นบันดาลโทสะดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากโจทก์ฎีกาขอให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 โดยให้ลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share