คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1263/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ระดับ 3 ขึ้นไปและเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ระดับ 4 ขึ้นไปเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามพ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ 3 งานรายได้ โดยมีหน้าที่ รับแบบตรวจสอบรายการ สถานที่ กำหนดค่ารายปีเสนอหัวหน้างานพิจารณาสั่งการตามคำสั่งหัวหน้าเขต จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครหรือไม่ มิใช่สาระสำคัญ การที่จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายเพื่อจะทำให้ผู้เสียหายเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินน้อยกว่าที่ควรจะต้องเสีย จึงเป็นการกระทำเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,154, 157 คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 จำคุก 5 ปี ของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีข้อพิจารณาข้อแรกว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากนายแปลกผู้เสียหาย 3,000 บาท เพื่อที่จะช่วยเหลือให้นายแปลกเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควรเสียหรือไม่และข้อพิจารณาข้อที่สองว่า การเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหรือไม่ในข้อพิจารณาประการแรกนั้นเห็นว่าโจทก์มีผู้เสียหาย นายกล้าณรงค์จันทึก เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ป. ร้อยตำรวจโทตรีจักษ์สุขโชคศิริชัยพร และจ่าสิบตำรวจชำนาญ อิสระ เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามเบิกความรวมกันเป็นใจความโดยย่อว่า เมื่อวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2527 ผู้เสียหายยื่นแบบเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2527 ต่อจำเลยจำเลยบอกว่ามีการเปลี่ยนหัวหน้าใหม่ จะต้องเสียแพงกว่าปกติคิดแล้ว 10,800 บาท หากจะเสียถูกกว่านี้ต้องให้เงินแก่จำเลย 3,000 บาท ให้ผู้เสียหายคิดดูก่อน หากตกลงให้นำเงินไปชำระให้จำเลยในวันที่ 15 เดือนเดียวกัน เมื่อผู้เสียหายกลับบ้านได้เขียนคำร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ป.ป.ป.เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ป. ได้สอบปากคำผู้เสียหายและประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามวางแผนจับกุม โดยเอาธนบัตรฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ มาถ่ายภาพไว้แล้วลงลายมือชื่อวันเดือนปีในภาพถ่ายธนบัตรเก็บไว้และทำเครื่องหมายไว้ในธนบัตรแล้วใส่ซองจดหมายมอบให้ผู้เสียหายนำไปให้จำเลย แล้วพากันไปที่ที่ทำงานของจำเลย ผู้เสียหายเข้าไปหาจำเลยที่โต๊ะทำงานของจำเลย พูดกับจำเลยแล้ววางซองจดหมายที่ใส่ธนบัตรไว้บนโต๊ะจำเลย จำเลยเอากระดาษปิดไว้ ผู้เสียหายส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยค้นพบซองจดหมายพร้อมธนบัตรในกระเป๋าเสื้อของจำเลย ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ที่จำเลยเบิกความตอบโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายไม่พอใจที่ถูกเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีโรงเรือนแพงกว่าปีก่อน ๆ เมื่ออุทธรณ์ก็ไม่ได้รับการพิจารณาเพราะยื่นพ้นกำหนด แต่จำเลยก็เบิกความตอบทนายจำเลยว่าเพียงแต่ผู้เสียหายไม่พอใจจำเลยไม่ถึงกับเป็นปากเสียงจึงเห็นว่า ไม่อาจฟังได้ว่าผู้เสียหายมีสาเหตุที่จะปรักปรำจำเลยอันจะทำให้น้ำหนักคำเบิกความของผู้เสียหายเสียไป ส่วนพยานปากอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่มีเหตุอันใดที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยโจทก์มีภาพถ่ายธนบัตรซองจดหมายส่งศาลประกอบคำเบิกความของพยาน สอดคล้องต้องกันสมเหตุผลและปราศจากพิรุธ จำเลยเองก็เบิกความรับว่า เจ้าพนักงานตำรวจค้นได้ซองใส่ธนบัตรของกลางอยู่ในกระเป๋าเสื้อของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลย เรียกเงินจากผู้เสียหาย 3,000 บาท เพื่อจะช่วยเหลือให้ผู้เสียหายเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควรจะเสียจริงที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้เรียกเงินจากผู้เสียหาย และในวันที่15 กุมภาพันธ์ 2527 ที่จำเลยถูกจับนั้น จำเลยเพียงพบซองจดหมายที่ใส่ธนบัตรของกลางอยู่บนโต๊ะ คิดว่าเป็นจดหมายของผู้ใหญ่ที่วานให้จำเลยทำงานบางอย่างหรือเป็นจดหมายร้องทุกข์นั้น ไม่น่าเชื่อเพราะหากเป็นจริงจำเลยน่าจะได้เปิดดูทันที
ส่วนในข้อที่ว่า การเรียกเอาเงินดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ 3 งานรายได้ เขตดุสิต และ นายสุนทร ณ สงขลาพยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นหัวหน้าเขตดุสิต เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย หัวหน้าเขตดุสิตได้ออกคำสั่งเขตดุสิตที่ 241/2526เรื่องการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบในงานรายได้ ตามเอกสารหมายจ.8 ซึ่งมีข้อความว่า ในงานรายได้หมวดภาษีโรงเรือนและที่ดินให้มีเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงานและรับผิดชอบ ดังนี้ 3. นายชวลิตสายสิญจน์ (จำเลย) เจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ แขวงวชิรพยาบาล แขวงสวนจิตรลดา แขวงดุสิต และแขวงสี่แยกมหานาคให้รับผิดชอบและปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินการจัดเก็บและเร่งรัดภาษีโรงเรือน ฯ ตามแขวงของตนให้เกิดผลดีแก่ราชการโดยมีหน้าที่ดังนี้
1. รับแบบ ภ.ร.ด. 2 ตรวจสอบรายการสถานที่ กำหนดค่ารายปีเสนอหัวหน้างานพิจารณาสั่งการทุกราย
2. รวบรวมเก็บรักษา ภ.ร.ด. 2 ประจำปีต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่จัดลำดับให้เรียบร้อยสามารถตรวจสอบค้นหาได้ทุกเวลา
3. ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีตามที่ตนรับผิดชอบ โดยมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1537/2519 เรื่องวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ฯ
4. บริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานในหน้าที่ต่อประชาชนผู้มาติดต่อให้เข้าใจและเกิดผลดีแก่ทางราชการตลอดจนให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วยดี
5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่หัวหน้างานรายได้สั่งการหรือมอบหมาย
และโจทก์ได้ส่งอ้างคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1537/2519เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการจัดเก็บภาษีเอกสารหมายป.จ.2 ด้วย ทั้งนายประดิษฐ์ เจียมจันทร์ หัวหน้างานรายได้เขตดุสิต เบิกความว่า พยานเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย เมื่อจำเลยได้รับแบบเสียภาษีจากผู้อื่นแล้ว ก็จะเสนอเจ้าหน้าที่ตามลำดับจนถึงพยาน แล้วพยานจะกำหนดค่ารายปีเพื่อเสียภาษีต่อไป การกำหนดค่ารายปีนั้น พิจารณาจากข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา และจำเลยเบิกความตอบโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินเสนอให้หัวหน้างานรายได้พิจารณาประเมินภาษีจากพยานหลักฐานดังกล่าวมาแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในแขวงวชิรพยาบาลซึ่งเป็นท้องที่ที่ตึกแถวของผู้เสียหายตั้งอยู่ ฉะนั้นการที่จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายในคดีนี้เพื่อจะทำให้ผู้เสียหาย เสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะต้องเสียจึงเป็นการกระทำเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งจำเลยจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่429/2523 หรือที่ 74/2525 หรือไม่ มิใช่สาระสำคัญ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share