แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
“กล้องสูบฝิ่นตามบทวิเคราะห์ศัพท์ มาตรา 3 พระราชบัญญัติฝิ่นพ.ศ.2472 หมายความว่า หัวกล้องหรือด้ามกล้องหรือเครื่องมืออย่างอื่นอันทำไว้เพื่อสูบฝิ่น
ฉะนั้นเครื่องมืออย่างอื่นอันทำไว้เพื่อสูบฝิ่นตามมาตรานี้ จึงหมายความว่าสิ่งกลวงที่มีลักษณะ ทำนองเดียวกับกล้องเช่นบ้อง หรือหลอดที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสูบฝิ่นแทนกล้องสูบฝิ่นได้ ดังนั้นตะเกียงสูบฝิ่นสังกะสีครอบตะเกียงจานรองตะเกียง ใบลานคลึงฝิ่น กระดาษห่อฝิ่นกระป๋องต้มฝิ่น และผ้าเช็ดฝิ่น จึงไม่ใช่ กล้องสูบฝิ่นแม้จำเลยมีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่ผิดฐานมีกล้องสูบฝิ่น ของกลางจึงไม่ริบ
ย่อยาว
คดีนี้ จำเลยรับสารภาพเต็มตามฟ้องว่า มีเครื่องมือสำหรับสูบฝิ่น คือตะเกียงสูบฝิ่น 1 ดวง สังกะสีครอบตะเกียง 1 อันจานรองตะเกียง 1 จาน ใบลานคลึงฝิ่น 1 ใบ กระดาษห่อฝิ่นครึ่งกระป๋องนม กระป๋องต้มฝิ่น 2 กระป๋อง และผ้าเช็ดฝิ่น 1 ผืนไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อสูบฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ผิดมาตรา 34และ 66 แห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 สิ่งของต่าง ๆ ในคำฟ้องจะแปลอนุโลมให้เป็นกล้องสูบฝิ่นตามมาตรา 3 ก็ไม่ได้ พิพากษายกฟ้องทั้งไม่ปรากฏว่าของกลางเหล่านั้นมีไว้เป็นผิดกฎหมายหรือได้มาแต่การกระทำผิด แต่อย่างใดและยังไม่เข้าเกณฑ์จะถูกริบตาม พระราชบัญญัติฝิ่น มาตรา 69 จึงไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ของกลางเป็นเครื่องมือไว้สำหรับเพื่อสูบฝิ่นเข้าลักษณะเป็นกล้องสูบฝิ่น พิพากษากลับลงโทษตามมาตรา 66(1) ปรับและลดฐานปรานีกึ่งหนึ่ง คงปรับ 50 บาทของกลางริบ
แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งแย้งว่า ยังไม่เป็นความผิด ควรพิพากษายืนศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์มุ่งขอให้ลงโทษฐานมีกล้องสูบฝิ่นไม่ได้รับอนุญาต ตามบทวิเคราะห์ศัพท์มาตรา 3 “กล้องสูบฝิ่น”หมายความว่าหัวกล้องหรือด้ามกล้องหรือเครื่องมืออย่างอื่นอันทำไว้เพื่อสูบฝิ่น
เครื่องมืออย่างอื่นอันทำไว้เพื่อสูบฝิ่นนั้นหมายความว่าสิ่งกลวงที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกล้องเช่นบ้องหรือหลอดที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสูบฝิ่นแทนกล้องสูบฝิ่นได้ แต่ของกลางเหล่านี้ไม่เข้าข่ายจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องโจทก์
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น