แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก แต่ต่อมาระหว่าง การพิจารณาของศาลฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยและ ผู้เสียหายสมรสกันโดยบิดามารดาผู้เสียหายอนุญาต จำเลยจึง ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย โดยศาลยกขึ้นเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185,215,225 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 มิได้จำกัดว่าการพรากเด็ก จะต้องกระทำโดยวิธีการอย่างใด แม้เด็กจะมีรูปร่างใหญ่โต แต่อายุไม่เกิน 15 ปี และเด็กเต็มใจไปด้วยก็ตามก็เป็น ความผิด และต้องเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร การที่ เด็กอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาของบิดามารดา โดยบิดามารดามีอำนาจปกครองและมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของ บุตรนั้น เมื่อจำเลยพาเด็กไปถือเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุ อันสมควรเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก แล้ว ส่วนการที่ จำเลยกับผู้เสียหายรักกันด้วยความสุจริตใจต่างมีเจตนาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาการกระทำของจำเลยขาดเจตนาเพื่อการอนาจาร จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก และมาตรา 317 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 19 ปี 3 วัน ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กระทงละหนึ่งในสามฐานกระทำชำเรา จำคุก 3 ปี 4 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 7 ปี 4 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ส่วนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่า ตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.1 เด็กหญิงนิตยา พรมดี เกิดวันที่ 9 มกราคม 2526 อายุ 13 ปี 8 เดือน และรับว่ามีจิตใจรักจำเลย เมื่อจำเลยชวนไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจึงตกลงยินยอมและเอาเสื้อผ้าไปอยู่ด้วยกันนายจันทร์เพ็ญบิดาของเด็กหญิงนิตยาไม่ประสงค์ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับจำเลย ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกาศาลจังหวัดมุกดาหารมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยและเด็กหญิงนิตยา พรมดี สมรสกัน และมีบุตรชาย 1 คน บิดามารดาของเด็กหญิงนิตยายินยอมให้ทำการสมรส ปรากฏตามคำสั่งศาลจังหวัดมุกดาหารลงวันที่ 4 ธันวาคม 2541 และใบสำคัญการสมรสลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลชั้นต้นลงโทษทุกกรรมซึ่งประมวลกฎหมายอาญามีบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตามมาตรา 277 วรรคแรก นั้น มาตรา 277 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป” ที่โจทก์ฟ้องอ้างมาตราในกฎหมายขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 277 นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 277 วรรคแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามที่มาตรา 277 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดีมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป” จำเลยแก้ฎีกาว่า มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษในมาตรา 277 วรรคแรก ศาลฎีกาจึงต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามมาตรา 277 วรรคแรก
คดีมีปัญหาวินิจฉัยความผิดต่อเสรีภาพและชื่อเสียงซึ่งความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 317 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยนั้นเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ตามมาตรา 317 วรรคแรกที่บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลต้องระวางโทษจำคุก” และวรรคสามบัญญัติว่า “ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก” ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า พรากหมายความว่าแยกออกจากกัน อนาจาร หมายความว่า ความประพฤติชั่วความประพฤติน่าอับอาย ความประพฤตินอกรีตนอกแบบทำให้เป็นที่อับอาย เป็นที่น่ารังเกียจแก่ผู้อื่นในด้านความดีงามนั้น เห็นว่า ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงที่จะวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของจำเลยว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ กฎหมายให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง และบัญญัติว่า อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ความมุ่งหมายของมาตรา 317 เพื่อเอาโทษแก่ผู้ที่พรากเด็ก แม้เด็กเต็มใจไปด้วย การพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาไปตามความในมาตรานี้มิได้จำกัดไว้ว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใด ถ้าเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีแล้วย่อมเป็นความผิดแม้เด็กจะมีรูปร่างใหญ่โต มีความรู้สึกผิดชอบเกินกว่าปกติก็ตาม การพรากก็มิได้จำกัดว่าพรากไปเพื่อประสงค์ใดหรือประโยชน์อย่างใดเพียงแต่มีเจตนาพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาก็เป็นความผิดแล้ว กรณีของจำเลยจึงเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ถ้าจำเลยพรากเด็กไปโดยมีเหตุอันสมควรแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ กรณีจะถือว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้เสียหายกำลังศึกษาเล่าเรียน ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาขณะที่บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์และมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การกระทำของจำเลยจึงปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก แต่ข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายรักกันด้วยความสุจริตใจต่างมีเจตนาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สมรสและมีบุตรด้วยกันการกระทำของจำเลยขาดเจตนากระทำเพื่อการอนาจาร จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 นั้นไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก จำเลยอายุกว่าสิบเจ็ดปี แต่ยังไม่เกินยี่สิบปีเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 2 ปี จำเลยเข้ามอบตัวและรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวนตลอดจนชั้นพิจารณาคดีของศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุสติปัญญาประกอบกับจำเลยถูกคุมขังมาบ้างแล้ว ภาวะแห่งจิตที่มีบุตร1 คน อันควรปรานี สมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก