คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1257/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 พนักงานบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการได้นำสินค้าผงหมึกพิพาทไปเสนอจำหน่าย ต่อทางราชการ โดยระบุในใบเสนอราคาว่า เป็นอุปกรณ์สำหรับ ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร MITA รุ่น DC-313Z เป็นการเสนอราคา สินค้าตรงตามความประสงค์ของทางราชการซึ่งมิได้ระบุว่าต้องการ ผงหมึกเฉพาะที่มีเครื่องหมายการค้า MITA เท่านั้น กล่องสินค้า ของจำเลยทั้งสามมีข้อความระบุชัดว่าเป็นสินค้าผงหมึก (TONER) ที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร MITA(FORUSEINMITA) รุ่น DC-211 RE313Z และ 313Z แม้ที่กล่องสินค้าดังกล่าว จะมีคำว่า “MITA” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าเครื่องถ่ายเอกสาร แต่จำเลยทั้งสามก็มิได้นำคำดังกล่าวมาใช้อย่างเครื่องหมายการค้า กล่าวคือ มิได้ระบุว่าผงหมึกของจำเลยทั้งสามเป็นผงหมึกที่มี เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมผงหมึกของจำเลยทั้งสาม เป็นผงหมึกที่ไม่มีเครื่องหมายการค้าระบุไว้ และจำเลยทั้งสาม มิได้เขียนคำว่า “MITA” ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะว่า “mita” เช่นเดียวกับของโจทก์ร่วม แต่เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ว่า “MITA” และคำว่า “TONER” ซึ่งหมายถึงผงหมึก ที่กล่องสินค้าของจำเลย ทั้ง สามก็เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกันรวมทั้งคำว่า “FORUSEIN” ก็เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เห็นได้ชัดเจนประกอบกับที่ กล่องสินค้าดังกล่าวปรากฏป้ายชื่อบริษัทและที่อยู่ของจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย มิได้ระบุชื่อบริษัทโจทก์ร่วมที่กล่องสินค้าดังกล่าวแต่ อย่างใด ส่วนกลางสินค้าของโจทก์ร่วมปรากฏว่า คำว่า “TONER” เขียนตัวอักษร “T” ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เพียงตัวเดียวตัวอักษรนอกนั้น เป็นตัวพิมพ์เล็ก โดยเขียนว่า “TONER” มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “mita” เขียนเรียงกันตามแนวนอน 6 แถว แถวละ 8 คำ และมีชื่อ บริษัทโจทก์ร่วมอยู่ด้วย แต่ไม่มีคำว่า “FORUSEIN” กล่องสินค้า ผงหมึกของจำเลยทั้งสามกับของโจทก์ร่วมจึงแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง การที่จำเลยทั้งสามนำคำว่า “MITA” ซึ่งเป็นชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมมาใช้ระบุที่หีบห่อบรรจุสินค้า ของจำเลยทั้งสามในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับราคาสินค้าที่จำเลย ทั้งสาม เสนอ จำหน่ายแก่ทางราชการ กับราคาสินค้าของโจทก์ร่วม ก็แตกต่างกันมาก จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้เสนอจำหน่าย สินค้าซึ่งมีชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ประชาชนหรือทางราชการหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วย มาตรา 272(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 273(1) , 275 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 275(1)ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 3 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาทส่วนจำเลยที่ 2 ให้ปรับเป็นเงิน 2,000 บาท ไม่ปรากฏจำเลยที่ 1และที่ 3 เคยกระทำความผิดมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษคนละ 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟ้องข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน “mita” อ่านว่า “มิต้า”เป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นสำหรับสินค้าเครื่องถ่ายเอกสาร อะไหล่ และอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสารสำหรับประเทศไทยโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”mita” สำหรับสินค้าเครื่องถ่ายเอกสาร กรมพลาธิการทหารเรือได้ออกประกาศสอบราคาซื้อวัสดุสิ้นเปลืองเครื่องถ่ายแผนที่สำรวจหาดกำหนดรายละเอียดต่อท้ายประกาศเอกสารหมาย ล. 2 ว่า ผงหมึกใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร MITA รุ่น DC – 313 Z จำนวน 20 หลอดจำเลยทั้งสามได้เสนอจำหน่ายผงหมึกต่อกรมพลาธิการทหารเรือตามใบเสนอราคาเอกสารหมายเลข จ.12 ว่า อุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร MITA รุ่น DC – 313 Z ผงหมึก 20 หลอดราคาหลอดละ 250 บาท ส่วนผงหมึกดังกล่าวขอโจทก์ร่วมราคาหลอดละ850 บาท และผงหมึกที่จำเลยทั้งสามเสนอจำหน่ายบรรจุอยู่ในกล่องมีข้อความว่า FOR USE IN MITA DC – 211 213 RE 313 Z 313 ZDซึ่งเป็นชื่อรุ่นของเครื่องถ่ายเอกสาร “มิต้า” และมีป้ายบริษัทและที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ที่กล่องดังกล่าว ปรากฏตามตัวอย่างกล่องสินค้าหมาย จ.11 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวครบองค์ประกอบเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 พนักงานจำเลยที่ 2ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการได้นำสินค้าผงหมึกพิพาทไปเสนอจำหน่ายต่อกรมพลาธิการทหารเรือโดยระบุในใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.12 ว่า เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เครื่องถ่ายเอกสาร MITA รุ่น DC เป็นการเสนอราคาสินค้าตรงตามความประสงค์ของกรมพลาธิการทหารเรือ ตามประกาศสอบราคาซื้อวัสดุสิ้นเปลืองเครื่องถ่ายแผนที่หาดเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งมิได้ระบุว่าต้องการผงหมึกเฉพาะที่มีเครื่องหมายการค้า MITA เท่านั้น กล่องสินค้าหมาย จ.11 ก็มีข้อความระบุว่าเป็นสินค้าผงหมึก (TONER) ที่ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสาร MITA (FOR USE IN MITA) รุ่น DC -221 RE 313 Z และ 313 ZD แม้ที่กล่องสินค้าของจำเลยทั้งสามจะมีคำว่า “MITA” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าเครื่องถ่ายเอกสารแต่จำเลยทั้งสามก็มิได้นำคำดังกล่าวมาใช้อย่างเครื่องหมายการค้ากล่าวคือ มิได้ระบุว่าผงหมึกของจำเลยทั้งสามเป็นผงหมึกที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ผงหมึกของจำเลยทั้งสามเป็นผงหมึกที่ไม่มีเครื่องหมายการค้าระบุไว้ และจำเลยทั้งสามมิได้เขียนคำว่า “MITA” ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะว่า “mita” เช่นเดียวกับของโจทก์ร่วม แต่เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ว่า “MITA” และคำว่า “TONER” ซึ่งหมายถึงผงหมึก ที่กล่องสินค้าของจำเลยทั้งสามก็เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกันรวมทั้งคำว่า “FOR USE IN” ก็เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เห็นได้ชัดเจนประกอบกับที่กล่องสินค้าดังกล่าวปรากฏป้ายชื่อบริษัทและที่อยู่ของจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย มิได้ระบุชื่อโจทก์ร่วมที่กล่องสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนกล่องสินค้าของโจทก์ร่วมที่ส่งศาลปรากฏว่า คำว่า “TONER” เขียนตัวอักษร “T” ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เพียงตัวเดียว ตัวอักษรนอกนั้นเป็นตัวพิมพ์เล็กโดยเขียนว่า “TONER” มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “mita” เขียนเรียงกันตามแนวนอน 6 แถว แถวละ 8 คำ และมีชื่อบริษัทโจทก์ร่วมอยู่ด้วยแต่ไม่มีคำว่า “FOR USE IN” กล่องสินค้าผงหมึกของจำเลยทั้งสามกับโจทก์ร่วมจึงแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง การที่จำเลยทั้งสามนำคำว่า “MITA”ซึ่งเป็นชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมมาใช้ระบุที่หีบห่อบรรจุสินค้าของจำเลยทั้งสามในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสามเสนอจำหน่ายแก่กรมพลาธิการทหารเรือ กับราคาสินค้าของโจทก์ร่วมก็แตกต่างกันมาก ผงหมึกของโจทก์ร่วมราคาหลอดละ 850 บาท จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้เสนอจำหน่ายสินค้าซึ่งมีชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมเพื่อให้ประชาชนหรือกรมพลาธิการทหารเรือหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วย มาตรา 272(1)
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share