แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญาเช่าสิทธิเพื่อเก็บค่ารักษาความสะอาดพิพาทจำเลยมีสิทธิเก็บค่ารักษาความสะอาดจากพ่อค้าและแม่ค้าซึ่งเป็นผู้เช่าแผงในบริเวณที่ดินของโจทก์ในกำหนด 1 ปี เป็นการที่จำเลยได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินภายในระยะเวลาอันมีจำกัด โดยจำเลยต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์เป็นรายเดือนเป็นการตอบแทน ถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537ประกอบมาตรา 99 เดิม แล้ว โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับตามสัญญาเช่าทรัพย์สิน ต้องอยู่ในอายุความ 6 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อเนื่องกันจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าสิทธิเพื่อเก็บค่ารักษาความสะอาดในที่ดินของการรถไฟฯ ที่สถานีธนบุรีกับโจทก์มีระยะเวลาการเช่า1 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 คิดค่าเช่าเดือนละ 416,500บาท จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาหลายประการ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเป็นเงิน 91,630 บาท จึงได้เรียกให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 6 เดือนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 91,630บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะได้วินิจฉัยต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหาที่สำคัญมีว่า จะนำอายุความใดมาใช้บังคับแก่สัญญาพิพาทจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าสัญญาพิพาทเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 หรือไม่พิเคราะห์สัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.46 และ จ.47 ประกอบแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 บัญญัติว่า “อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น” เห็นว่าสาระสำคัญตามสัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.46 นั้น เป็นกรณีที่ว่าโจทก์เป็นผู้ให้เช่าสิทธิจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าสิทธิ โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในการมีสิทธิเก็บค่ารักษาความสะอาดจากพ่อค้าและแม่ค้าในระยะเวลาอันจำกัด คือตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาได้โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ416,500 บาท และการที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิในการเก็บค่ารักษาความสะอาดจากพ่อค้าแม่ค้านั้นเท่ากับจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537ประกอบมาตรา 99 เดิม อายุการเช่ามีกำหนด 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาอันมีจำกัด จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ 416,500 บาทตอบแทน ประกอบกับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.47ก็ระบุว่าค้ำประกันตามสัญญาเช่าสิทธิเพื่อเก็บรักษาความสะอาดอีกด้วยจึงถือได้ว่าสัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.46 มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ทุกประการที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจัดตลาดและอยู่ในความดูแลของโจทก์ทุกขั้นตอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าจากพ่อค้าแม่ค้าและข้ออื่น ๆ อีกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในบังคับของโจทก์ทุกขั้นตอน เป็นแต่เพียงมีข้อตกลงบางประการที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม และจำเลยที่ 1 เช่าเพื่อใช้สิทธิเก็บค่ารักษาความสะอาดจากพ่อค้าแม่ค้า มิใช่เก็บค่าเช่าจากพ่อค้าแม่ค้า ข้อตกลงต่าง ๆ ที่มีขึ้นก็เป็นเสรีภาพของโจทก์กับจำเลยที่ 1จะกระทำกันได้โดยชอบเกี่ยวกับการเช่า ซึ่งไม่ทำให้สัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินกลายเป็นสัญญาประเภทอื่นแต่อย่างใดจึงเห็นว่า สัญญาพิพาท เอกสารหมาย จ.46 เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ประกอบมาตรา 99 เดิมโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าปรับตามสัญญาพิพาทจึงต้องใช้อายุความหกเดือนตามมาตรา 563 บังคับใช้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการส่งคืนสิทธิแห่งการเช่าหรือทรัพย์สินที่เช่าแก่โจทก์เมื่อวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ฟ้องวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 ซึ่งเป็นเวลาที่พ้นกำหนดหกเดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน