คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) นั้น ผู้ร้องสอดขอเข้ามาในคดีได้ต่อเมื่อตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ในผลแห่งคดี ซึ่งหมายความว่า ผลของคดีตามกฎหมายจะเป็นผลไปถึงตนด้วยจึงจะร้องสอดได้มิใช่ว่าเข้าไปเซ็นสัญญากับคนในคดีได้ตามใจชอบแล้วอ้างว่ามีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี
(ประชุมใหญ่ ครั้ง 41/2504)

ย่อยาว

คดีนี้ ผู้ร้องขัดทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ก่อนพิพากษานั้นเป็นของผู้ร้องมิใช่ของจำเลย ขอให้ถอนการยึด ต่อมาโจทก์นำยึดอีก เพราะยึดครั้งแรกยังไม่หมด ผู้ร้องคัดค้านเช่นเดิม ในที่สุดโจทก์และผู้ร้องตกลงกันว่าผู้ร้องขอวางเงินไว้ต่อศาล ๑๒๐,๐๐๐ บาท ฝ่ายใดชนะคดีก็รับเอาไป ผู้ร้องจะเอาทรัพย์ที่ถูกยึดไปก่อสร้างต่อไป โจทก์ได้ถอนการยึด
ผู้ร้องสอดที่ ๑-๒ ร้องสอดเข้ามาขอเป็นคู่ความร่วมกับผู้ร้อง อ้างว่าได้ค้ำประกันจำเลยไว้กับผู้ร้อง เมื่อจำเลยผิดสัญญา ผู้ร้องสอดจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นเงิน ๓๔๒,๐๐๐ บาท ผู้ร้องสอดขอผ่อนผันรับทำการก่อสร้างถนนต่อจากที่จำเลยทำค้างไว้ ผู้ร้องยอมให้ผู้ร้องสอดรับจ้างทำถนนต่อไปและมีข้อสัญญากันว่า ผู้ร้องสอดยอมรับใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความแทนผู้ร้องเป็นเงิน ๑๒,๐๕๐ บาท ที่เสียไปในการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องสอดยอมรับเอาผลทางคดีขัดทรัพย์ไม่ว่าผู้ร้องจะแพ้หรือชนะ ถ้าชนะผู้ร้องยอมให้ผู้ร้องสอดเอาวัสดุก่อสร้างที่ชนะคดีนั้นใช้ก่อสร้างถนนได้ตามสัญญา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกหรือถ้าผู้ร้องกับโจทก์ประนีประนอมกัน ผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เท่าใดผู้ร้องสอดจะต้องชำระแทน
โจทก์ค้านว่า ผู้ร้องสอดไม่มีส่วนได้เสีย
ศาลแพ่งว่า ผู้ร้องสอดไม่มีส่วนได้เสียกับมูลคดีที่โจทก์กับผู้ร้องพิพาทกันให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าร่วมกับผู้ร้องในชั้นร้องขัดทรัพย์แผนกที่ ๑ ได้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องชั้นผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ที่โจทก์นำยึด ฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องถึงสัญญาก่อสร้างที่จำเลยทำการก่อสร้างให้ผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องสอดที่ ๑ เป็นผู้ค้ำประกัน และต่อมาได้มีการตกลงกันระหว่างผู้ร้องกับผู้ร้องสอดที่ ๑ ให้ผู้ร้องสอดที่ ๒ ทำการก่อสร้างต่อไปจากจำเลย คงมีแต่ว่าการที่ผู้ร้องสอดที่ ๑ ทำสัญญาตกลงกับผู้ร้องว่าผู้ร้องสอดที่ ๑ ยอมถือเอาผลของการร้องขัดทรัพย์ด้วยนี้นั้น จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดที่ ๑ มีสิทธิร้องสอดได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๗ (๒) แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๒) นี้ จะต้องสอดได้ต่อเมื่อตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี จึงหมายความว่า ผลของคดีตามกฎหมายจะเป็นผลไปถึงตนด้วย จึงจะร้องสอดได้ ตามข้อสัญญาผูกพันระหว่างผู้ร้องกับผู้ร้องสอดที่ ๑ ดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ร้องสอดที่ ๑ ได้ผูกพันตนยอมรับผิดชอบต่อผู้ร้อง โดยข้อสัญญา เพื่อบรรเทาความเสียหายที่ผู้ร้องสอดในฐานผู้ค้ำประกันจำเลยจะต้องใช้เงินให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีที่ผู้ร้องกับโจทก์พิพาทกันตามสัญญา ซึ่งผู้ร้องสอดไปทำกับผู้ร้องเอง เมื่อผู้ร้องได้ร้องขัดทรัพย์แล้ว หาใช่เป็นส่วนได้เสียตามกฎหมายตามความหมายของมาตรา ๕๗ (๒) ไม่ ผู้ร้องสอดที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิจะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๒) ได้ สำหรับผู้ร้องสอดที่ ๒ ซึ่งมีข้อสัญญากับผู้ร้องสอดที่ ๑ จะทำการก่อสร้างถนนให้แก่ผู้ร้องสอดที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิจะร้องสอดเช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลแพ่ง

Share