คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ไปทำนิติกรรมขายฝากทรัพย์ให้แก่เจ้าหนี้ เงินค่าขายฝากนี้ตกลงกันให้หักใช้หนี้เงินกู้บางส่วน เจ้าหนี้เอาสัญญากู้ให้บุตรชายบันทึกไว้ว่าลูกหนี้ให้เงินมาเท่าใด คงเหลือเท่าใด และบุตรชายเจ้าหนี้เซ็นชื่อกำกับไว้ ดังนี้ เป็นการที่บุตรชายเจ้าหนี้กระทำแทนเจ้าหนี้ ถือได้ว่าเป็นการแทงเพิกถอนในเอกสารกู้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินรายพิพาทไปจากโจทก์ ๖,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๒ ซึ่งได้รับมอบฉันทะจากจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นสามี ไปทำนิติกรรมขายฝากห้องแถวให้โจทก์ ณ ที่ว่าการอำเภอเป็นเงิน ๒๒,๐๐๐ บาท เงินค่าขายฝากนี้หักชำระหนี้รายเก่าให้โจทก์ ๒๐,๐๐๐ บาท หักเป็นค่าธรรมเนียม ๓๒๐ บาท ที่เหลืออีก ๑,๖๘๐ บาท หักใช้หนี้รายพิพาท โจทก์จึงเอาสัญญากู้ให้นายวรรณเวทย์ (บุตรชายโจทก์ซึ่งไปอำเภอกับโจทก์ด้วย) บันทึกไว้ในสัญญากู้ด้านหลังว่า วันนั้นจำเลยให้มา ๑,๖๘๐ บาท คงเหลือ ๔,๓๒๐ บาท และเซ็นชื่อ “เวทย์” กำกับไว้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ใช้ให้นายวรรณเวทย์สลักหลังรับเงินจริง นายวรรณเวทย์จึงเป็นผู้สลักหลังข้อความและเซ็นชื่อเป็นตัวแทนโจทก์ได้ พิพากษาให้จำเลยใช้เงินเฉพาะที่ยังค้าง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่นายวรรณเวทย์บันทึกไว้หลังสัญญากู้ดังนั้น เรียกได้ว่าได้มีการแทงเพิกถอนลงในเอกสารการกู้เงินแล้ว พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า นายวรรณเวทย์บุตรโจทก์ไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ จะฟังว่าได้มีการแทงเพิกถอนลงในเอกสารสัญญากู้แล้วไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายวรรณเวทย์บันทึกไว้หลังสัญญากู้นั้นเป็นการกระทำแทนโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการแทงเพิกถอนลงในเอกสารกู้เงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ แล้ว พิพากษายืน

Share