คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภริยาทำหนังสือขึ้นฉบับหนึ่งระบุไว้ว่า เป็นสัญญาประนีประนอมเพื่อระงับข้อพิพาทเรื่องเรือนและสวนยางไม่ให้ต้องเป็นความกันในโรงศาลโดยตกลงโอนกรรมสิทธิ์สวนแปลงนั้นให้บุตร 2 คนๆละส่วนนับแต่วันทำสัญญาแม้จะมีข้อความว่าให้บุตรทั้งสองเข้าถือสิทธิครอบครองได้ต่อเมื่อสามีภริยาตายแล้วทั้งสองคน ก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาตกลงจะชำระหนี้แก่บุตรซึ่งเป็นบุคคลภายนอก บุตรจึงมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากคู่สัญญาได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคต้นและเมื่อบุตรได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้แล้ว สิทธิของบุตรก็เกิดขึ้นแล้วตามวรรคสอง บุตรย่อมฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญานั้นได้
โจทก์เคยฟ้องจำเลย ขอแบ่งทรัพย์ตามเอกสารฉบับหนึ่งอ้างว่าเป็นพินัยกรรม ศาลพิพากษายกฟ้องว่า ไม่ใช่พินัยกรรม คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยใหม่ตามสัญญาเอกสารฉบับเดียวกันนั้น อ้างว่าเป็นสัญญาประนีประนอมของบุคคลอื่นที่ยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ โจทก์ฟ้องได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2494)

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรนายหลีท่ามเกิดแต่ภริยาเดิม จำเลยเป็นภริยาใหม่ของนายหลีท่าม เกิดบุตรด้วยกันชื่อนางกิมม่อย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2490 นายหลีท่ามกับจำเลยทำหนังสือสัญญาประนีประนอมขึ้นฉบับหนึ่ง มีข้อความดังต่อไปนี้

“ตำบลตาเนาะปุเต๊ะ

27 มีนาคม 2490

ข้าพเจ้านายหลีท่าม แซ่หลี สามีนางปรางภรรยาได้ตกลงกันทำสัญญาประนีประนอม เพื่อระงับเหตุพิพาทเรื่องที่ดินสวนยางพร้อมเรือนหลังหนึ่ง ซึ่งได้ถือสิทธิปกครองร่วมกันมาแต่เดิมโดยมิต้องให้เป็นความกันยังโรงศาล จึงพร้อมใจกันตกลงทำสัญญาแบ่งมรดกรายนี้ออกเป็นส่วน ๆ เพื่อยกให้แก่นางกิมม่อยและนายกิมโพ่ผู้เป็นบุตรทั้งสองคนพี่น้อง ดังนี้

ข้อ 1. ในที่ดินสวนยาง 1 แปลง ซึ่งนายหลีท่ามและนางปรางได้ทำโก่นสร้างมาร่วมกันจนบัดนี้มีอาณาเขตทิศตะวันออก 150 วาจดลำธาร ทิศตะวันตก 150 วาจดลำธาร ทิศเหนือ 250 วา จดลำธาร ทิศใต้ 250 วาจดลำธาร คิดเป็นเนื้อที่ 93 ไร่ 3 งาน ที่รายนี้อยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลเนาะปุเต๊ะ อำเภอบันนังสตา ยอมออกแบ่งส่วนเท่า ๆ กันยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นางกิมม่อย 1 ส่วน กับยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นายกิมโพ่ 1 ส่วน

ข้อ 2. ในการที่นางกิมม่อยและนายกิมโพ่จะเข้าถือสิทธิครอบครองได้ต่อเมื่อนายหลีท่ามผู้บิดาและนางปรางมารดาถึงแก่กรรมลงหมดแล้วทั้งสองคน ถ้าหากว่านายหลีท่ามหรือนางปรางถึงแก่กรรมลงแต่คนเดียว นางกิมม่อยและนายกิมโพ่ยังให้ถือสิทธิปกครองไม่ได้

ข้อ 3. ในระหว่างที่นายหลีท่ามบิดา นางปรางมารดายังมีชีวิตอยู่ ก็มีอำนาจถือสิทธิปกครองในที่ดินรายนี้ไปก่อนจนกว่าจะถึงแก่กรรมหมดทั้งสองคน

ข้อ 4. เมื่อนายหลีท่ามและนางปรางถึงแก่กรรมลงหมดแล้วนางกิมม่อยและนายกิมโพ่จะคิดแบ่งมรดก โดยต่างคนต่างจะถือสิทธิปกครองเป็นส่วน ๆ ก็แล้วแต่จะสมัครใจกันทั้ง 2 คนพี่น้อง

ข้อ 5. สัญญานี้ทำขึ้นทั้งสองฉบับ มีข้อความอย่างเดียวกันมอบให้นางกิมม่อยยึดถือไว้ฉบับหนึ่ง มอบให้นายกิมโพ่ถือไว้ 1 ฉบับผู้ทำสัญญาเข้าใจข้อความตลอดแล้ว ให้ลงชื่อไว้ต่อหน้าพยาน

ลงชื่อ (อักษร น) หลีท่าม ผู้ทำสัญญา

ลงชื่อ (ลายพิมพ์นิ้วมือ) นางปราง ผู้ทำสัญญา

ลงชื่อ (คีมิน) อักษรมลายู พยาน

ลงชื่อ (อักษร น) ซิ่นฟุ้ง พยาน

ลงชื่อ เผียน ศิริสวัสดิ์ ผู้เขียน

บัดนี้นายหลีท่ามตายลง จำเลยไปยื่นคำร้องต่ออำเภอขอขายที่ดินแปลงนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้เอาสวนยางรายนี้ไปขาย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแรก คดีแดงที่ 30/2491 และว่าคดีขาดอายุความ ให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาประชุมใหญ่ เห็นว่า หนังสือนี้กล่าวไว้ชัดว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทเรื่องเรือนและสวนยางรายนี้ไม่ให้ต้องเป็นความกัน นายหลีท่ามกับนางปรางจึงได้ตกลงกันทำหนังสือฉบับนี้ แบ่งสวนรายพิพาทให้โจทก์กับนางกิมม่อยเสียคนละครึ่ง หนังสือฉบับนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยจะผูกพันตามข้อสัญญาฉบับนี้ และสัญญาฉบับนี้เป็นสัญญาที่จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์จึงมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากจำเลยได้โดยตรงได้ตามมาตรา 374 วรรคต้น เมื่อจำเลยจะเอาที่สวนรายนี้ไปขาย โจทก์ได้เข้าคัดค้านแสดงเจตนาแก่จำเลยว่า โจทก์จะถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้ แล้วสิทธิของโจทก์จึงเกิดมีขึ้นแล้วตามความในวรรคสอง

ส่วนในข้อที่ว่าเป็นฟ้องซ้ำ เห็นว่าในคดีแดงที่ 30/2491 นั้นโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกตามพินัยกรรม สิทธิที่อ้างตามฟ้องและประเด็นเป็นคนละอย่างกับคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับห้ามจำเลยไม่ให้ขายสวนยางรายพิพาทเท่าที่โจทก์ขอมาในฟ้อง

Share