แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนต่างเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เหมือนกัน การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนธนบัตรของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาเพราะกระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่อาจริบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6 (1), 62, 106 ป.อ. มาตรา 33, 91 ริบธนบัตรชนิดต่าง ๆ เป็นเงิน 2,080 บาท หลอดกาแฟตัด 6 หลอด หลอดกาแฟ 30 หลอด กรรไกร เทียนไข ไฟแช็กแก๊ส หลอดพลาสติกใสเบอร์ 5 ของกลางและริบเฮโรอีนที่เหลือให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานจำหน่ายและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกกระทงละ 5 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 3 เดือน ริบของกลาง ส่วนเฮโรอีนของกลางที่เหลือริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเป็น 3 กระทง แต่ละกระทงมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลย และศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษความผิดข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและริบเฮโรอีนของกลางที่เหลือให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและธนบัตรจำนวน 2,080 บาทนั้น ไม่ถูกต้อง ทั้งลงโทษหนักเกินไป โดยระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ซึ่งไม่ได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ และได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใดบังคับแก่ผู้กระทำความผิด เมื่อเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนต่างเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เหมือนกัน การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย ต้องปรับบทลงโทษจำเลยสำหรับความผิดข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นความผิดสองกรรม จึงไม่ถูกต้อง สำหรับเฮโรอีนของกลางที่เหลือเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 ให้อำนาจศาลริบเสียทั้งสิ้นเท่านั้น โดยไม่ได้ให้ริบแก่กระทรวงสาธารณสุข จึงไม่อาจริบเฮโรอีนของกลางที่เหลือแก่กระทรวงสาธารณสุขได้ ส่วนธนบัตรจำนวน 2,080 บาทของกลาง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาเพราะกระทำผิดคดีนี้ จึงไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 67 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 5 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานจำหน่ายเฮโรอีน 5 ปี แล้วเป็นจำคุก 10 ปี คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบเฮโรอีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ไม่ริบธนบัตรจำนวน 2,080 บาทของกลาง และให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.
(ชวลิต ศรีสง่า – วัฒนชัย โชติชูตระกูล – วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์)