แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 ป้ายอาจแสดงด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือว่าเป็นป้าย ดังนั้นป้ายที่มีอักษรไทยล้วนตามบัญชีอัตราภาษีป้าย ประเภท (1) ย่อมหมายถึงป้ายที่ไม่มีสิ่งอื่นใดเลยนอกจากอักษรไทย
คำว่าเครื่องหมาย นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2493 หมายความว่า สิ่งที่ทำขึ้นแสดงความหมายป้ายโฆษณาภาพยนตร์ที่มีอักษรไทย ภาพดาราภาพยนตร์ ภาพสัตว์และภาพวัตถุอื่น ๆ จึงเป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับเครื่องหมายตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภท (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีป้ายโฆษณาที่มีอักษรไทยและรูปภาพเท่านั้นไม่มีเครื่องหมายใด ๆ และอักษรต่างประเทศ โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีป้ายในอัตราประเภท (1) คือประเภทมีอักษรไทยล้วน จำเลยที่ 1และที่ 2 ประเมินและเรียกเก็บภาษีป้ายของโจทก์ในอัตราประเภท (2)คือประเภทอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศหรือเครื่องหมาย โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีป้ายไปยังจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3วินิจฉัยว่าโจทก์ต้องเสียภาษีป้ายโฆษณาตามบัญชีประเภท (2) โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และสั่งว่าโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามอัตราประเภท (1)
จำเลยทั้งสามให้การว่า ป้ายโฆษณาของโจทก์มีภาพดาราภาพยนตร์ถือว่าเป็นเครื่องหมายและยังมีเครื่องหมายของบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์และเครื่องหมายอื่น ๆ ปะปนอยู่ด้วย โจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภท (2)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 เห็นได้ว่าป้ายอาจแสดงด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมาย และบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินั้น กำหนดไว้ว่า
(1) ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 1 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร ฯลฯ
(2) ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศหรือเครื่องหมายให้คิดอัตรา 10 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร ฯลฯ
เห็นว่า ป้ายที่มีอักษรไทยล้วนนั้น หมายถึงป้ายที่ไม่มีสิ่งอื่นใดเลยนอกจากภาษาไทย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าป้ายโฆษณาของโจทก์มีภาพดาราภาพยนตร์ ภาพสัตว์ และภาพวัตถุอื่นอยู่ด้วย จึงไม่อาจปรับเข้าประเภท (1) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายดังกล่าวได้ ปัญหาจึงมีต่อไปว่าภาพดาราภาพยนตร์ ภาพสัตว์ และภาพวัตถุอื่นดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเครื่องหมายตามประเภท (2) หรือไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์หรือคำจำกัดความ คำว่า เครื่องหมาย ไว้ จึงพึงพิเคราะห์ความหมายของคำนี้จากความเข้าใจโดยทั่วไปพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2493 ให้ความหมายไว้ว่า เครื่องหมาย คือสิ่งที่ทำขึ้นแสดงความหมาย ภาพดาราภาพยนตร์ ภาพสัตว์ และภาพวัตถุอื่นในป้ายโฆษณาของโจทก์ จึงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นแสดงความหมายทั้งสิ้นฉะนั้น ป้ายโฆษณาของโจทก์จึงเป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับเครื่องหมายต้องด้วยประเภท (2) ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติป้ายพ.ศ. 2510
พิพากษายืน