คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1247/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นกระทำความผิดฉ้อโกงตามมาตรา 341,86 จำคุก 8 เดือน นั้น แม้จะเป็นการแก้ทั้งบทและโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ก็คงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 1 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 9, 27,28 กับให้จำเลยชดใช้เงิน 31,000 บาทแก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยต่อ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 1 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 มาตรา 7, 28 จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 1 เดือน ให้จำเลยชดใช้เงิน 31,000 บาทแก่ผู้เสียหาย คำขอให้นับโทษจำเลยต่อให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 9 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุก1 ปี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นกระทำความผิดฉ้อโกงผู้เสียหายพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 86จำคุก 8 เดือน ดังนี้ แม้จะเป็นการแก้ทั้งบทและโทษก็ตามแต่ศาลอุทธรณ์ก็คงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 1 ปี คดีจึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงรับฟังได้อย่างมั่นคงแน่ชัดว่า จำเลยกระทำไปในฐานะเฉพาะตัวของจำเลยเองในการติดต่อรับสมัครงานอันเป็นการฉ้อโกงผู้เสียหาย จึงควรมีความผิดฐานเป็นตัวการฉ้อโกงผู้เสียหาย แต่หากจะฟังว่าบริษัทเทพไทยธรณี จำกัด โดยนายประสิทธิ์ ผู้จัดการได้เป็นผู้หลอกลวงฉ้อโกงผู้เสียหาย ก็เป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิด โดยนายประสิทธิ์เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัท ฯ และจำเลยรับหน้าที่ติดต่อผู้สมัครงาน พูดหลอกลวงผู้สมัครงานให้หลงเชื่อการกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกันในการฉ้อโกงผู้เสียหายนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทเทพไทยธรณี จำกัด ไม่ได้ร่วมหลอกลวงผู้เสียหาย เพียงแต่เป็นผู้รับเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน แล้วนำส่งแก่นายประสิทธิ์ผู้จัดการ เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่นายประสิทธิ์กระทำผิดฉ้อโกงผู้เสียหาย ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share