คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1244/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 47 กำหนดเรื่องการขาดงานถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลที่สมควรจะถูกพิจารณาโทษทางวินัยคือขาดงานครั้งแรกไม่จ่ายค่าจ้างในวันขาดงานและออกหนังสือเตือนครั้งที่1การขาดงานครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะไม่จ่ายค่าจ้าง 2 เท่าและ 3 เท่าของค่าจ้างพร้อมกับออกหนังสือเตือนทั้งสองครั้งตามลำดับการขาดงานครั้งที่4จึงจะเลิกจ้างได้และข้อ5.24กำหนดว่าเจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบของศูนย์ประกันสังคมของจำเลยจะถูกพิจารณาลงโทษดังนี้1.ตักเตือนด้วยวาจา 2.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 1 3. ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 2 4.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 3 พักงานโดยมีกำหนดโดยไม่ได้รับค่าจ้างและ 5.เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยดังนั้นตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเจ้าหน้าที่ที่ขาดงานโดยละทิ้งหน้าที่จำเลยจะต้องเตือนด้วยวาจา 1ครั้งก่อนหากมีการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมหลังจากนั้นจำเลยจะต้องออกหนังสือเตือนถึง 3 ครั้งเมื่อขาดงานครั้งที่ 5 จึงให้เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเมื่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยทั้งสองนี้ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานโดยในครั้งแรกโจทก์ได้รับคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ไปทำงานเป็นแพทย์ประกันสังคมประจำโรงพยาบาลร.แต่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามจำเลยจึงได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลร.โจทก์รับทราบหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมไปเมื่อตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจำเลยจะต้องตักเตือนด้วยวาจา 1 ครั้งและออกหนังสือเตือนอีก 3 ครั้งจึงจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้การที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เพียงครั้งเดียวแล้วเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่การที่โจทก์ได้รับคำสั่งจากศูนย์ประกันสังคมเอกชนในนามจำเลยที่1ให้ไปปฏิบัติงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลร.แต่โจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งเมื่อจำเลยมีหนังสือย้ำให้โจทก์ไปปฏิบัติงานภายในเวลาที่กำหนดโจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามหน้าที่อีกเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยทั้งสองโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งจำเลยได้เตือนเป็นหนังสือแล้วจึงมีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมส่วนลำดับขั้นตอนการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดให้จำเลยเตือนด้วยวาจาในครั้งแรกและออกหนังสือเตือนอีก3ครั้งจึงจะเลิกจ้างลูกจ้างได้นั้นเมื่อระเบียบดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดว่าให้ใช้แก่กรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้นดังนี้จะนำระเบียบนี้มาใช้บังคับแก่กรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งมีหลักเกณฑ์การวินิจฉัยแตกต่างจากการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 และข้อ 47 หาได้ไม่และการที่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานเป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างแล้วจำเลยจึงมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 จำเลยทั้งสองร่วมกันจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่แพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วยจำเลยทั้งสองมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย 90 วัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า56 วัน แก่โจทก์ ระหว่างทำงานให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองกำหนดเวลาทำงาน 8.00 ถึง 17.00 นาฬิกา และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538ถึงเดือนพฤศจิกายน 2539 เวลาทำงาน 8.00 ถึง 16.00 นาฬิกาโดยวันที่ 3 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2539 จำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ โจทก์ได้ทำงานล่วงเวลาตามที่จำเลยทั้งสองสั่ง 341 ชั่วโมง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติเป็นเงิน 118,372.65 บาท แต่จำเลยทั้งสองจ่ายให้เพียง 100,050 บาท จ่ายขาดจำนวน 18,322.65 บาท และจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณีระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2539 รวม112 ชั่วโมง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในอัตราสามเท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติเป็นเงิน 80,001.60 บาท อีกทั้งจำเลยทั้งสองกำหนดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 7 วัน โจทก์ทำงานมา 1 ปี 10 เดือน ยังไม่เคยใช้สิทธิ โจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 13 วัน คิดเป็นเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี21,666.67 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 93,333 บาท ค่าล่วงเวลาจำนวน 18,322.65 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน21,666.67 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุดทำงาน 52,001.60 บาทค่าชดเชยจำนวน 150,000 บาท และค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฏหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้จ้างโจทก์ในฐานะลูกจ้าง แต่เป็นการจ้างในฐานะแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพจำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ไปประจำโรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการตลอดมาจนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ โจทก์ไม่ยอมไป จำเลยที่ 1มีหนังสือเตือนในวันที่ 14 ตุลาคม 2539 โจทก์เพิกเฉย จนวันที่1 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่จัดส่งแพทย์ไปประจำ ทำให้โรงพยาบาลได้รับความเสียหายรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,440,000 บาท ทางโรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน 1,440,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างโจทก์แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงินตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 8 ถึง 9 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บริหารศูนย์ประกันสังคมเอกชนในนามจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไปทำงานเป็นแพทย์ประกันสังคมประจำโรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตาม วันที่ 14 ตุลาคม 2539 จำเลยได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือในนามศูนย์ประกันสังคมเอกชนให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ โจทก์ทราบหนังสือแล้วไม่ยอมไปโจทก์ในฐานะลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฏหมายของศูนย์ประกันสังคมเอกชน ซึ่งทางศูนย์ดังกล่าวโดยผู้อำนวยการเคยมีคำสั่งด้วยวาจาและหนังสือให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ โจทก์ไม่ยอมไป ทางศูนย์ดังกล่าวได้ออกหนังสือเตือนโจทก์แล้ว โจทก์ก็ยังไม่ยอมไป จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่จำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติและในวันหยุด กับโจทก์ไม่ได้ลาหยุดพักผ่อนประจำปี ฟ้องแย้งเคลือบคลุม พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าล่วงเวลาในเวลาทำงานปกติ จำนวน 18,322.65 บาทค่าล่วงเวลาในวันหยุดจำนวน 52,001.60 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 11,666.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินแต่ละจำนวนเสร็จสิ้นแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนอันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่า การที่จำเลยทั้งสองจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น โจทก์จะต้องกระทำผิดแล้ว จำเลยทั้งสองจึงจะเตือนด้วยวาจา 1 ครั้ง และต้องเตือนเป็นหนังสือรวม 3 ครั้งจึงจะเลิกจ้างได้ แต่ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองมีคำสั่งด้วยวาจาให้โจทก์ไปทำงานที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์วันที่ 8 ตุลาคม 2539 โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตาม วันที่ 14 ตุลาคม 2539 จำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่งเตือนเป็นหนังสือให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลดังกล่าวโจทก์ทราบหนังสือเตือนแล้วไม่ยอมไป จำเลยทั้งสองจึงเลิกจ้างโดยจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า แม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4),(5) จะกำหนดว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งหนังสือเตือนนั้นต้องมีผลบังคับไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับทราบหนังสือเตือน เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องเตือน และในกรณีที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยทั้งสองข้อ 47 กำหนดเรื่องการขาดงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลที่สมควรจะถูกพิจารณาโทษทางวินัย คือ ขาดงานครั้งแรก ไม่จ่ายค่าจ้างในวันขาดงานและออกหนังสือเตือนครั้งที่ 1 การขาดงานครั้งที่ 2และครั้งที่ 3 จะไม่จ่ายค่าจ้าง 2 เท่า และ 3 เท่าของค่าจ้างพร้อมกับออกหนังสือเตือนทั้งสองครั้งตามลำดับ การขาดงานครั้งที่ 4 จึงจะเลิกจ้างได้ และข้อ 5.24 กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบของศูนย์ดังกล่าวจะถูกพิจารณาลงโทษดังนี้1. ตักเตือนด้วยวาจา 2. ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 1 3. ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 2 4. ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 3 พักงานโดยมีกำหนดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และ 5. เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย จะเห็นได้ว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยทั้งสองดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่ขาดงานโดยละทิ้งหน้าที่ จำเลยทั้งสองจะต้องเตือนด้วยวาจา 1 ครั้งก่อน หากมีการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมหลังจากนั้นก็จะต้องออกหนังสือเตือนถึง 3 ครั้งเมื่อขาดงานครั้งที่ 5 จึงให้เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ระเบียบข้อบังคับของจำเลยทั้งสองนี้ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคุณแก่ลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต้องถือปฏิบัติคดีนี้ปรากฏว่าตามสำเนาหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.6จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยระบุว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าวันที่ 8 ถึง 9 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บริหารของศูนย์ประกันสังคมเอกชนในนามจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไปทำงานเป็นแพทย์ประกันสังคมประจำโรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตาม วันที่ 14 ตุลาคม 2539 ผู้บริหารของศูนย์ดังกล่าวได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์โจทก์รับทราบหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมไป จำเลยทั้งสองถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยมีการเตือนเป็นหนังสือแล้วจึงเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539จะเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ โดยจำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์แล้วครั้งหนึ่งตามหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.5 ก็ตาม แต่ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยทั้งสองข้อ 5.24 จำเลยทั้งสองจะต้องตักเตือนด้วยวาจา 1 ครั้ง และออกหนังสือเตือนอีก 3 ครั้งจึงจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ การที่จำเลยทั้งสองออกหนังสือเตือนโจทก์เพียงครั้งเดียวแล้วเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อ 5.24 ของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างประกอบกับกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 6.2 แห่งข้อตกลงดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสองมา 1 ปีเศษ จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายมีกำหนด 90 วัน เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 150,000 บาทที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยไม่มีสิทธิในการเลิกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอยู่ในตัวนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 ถึง 9 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บริหารศูนย์ประกันสังคมเอกชนในนามจำเลยที่ 1ให้โจทก์ไปทำงานเป็นแพทย์ประกันสังคม ประจำโรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตาม วันที่14 ตุลาคม 2539 ศูนย์ประกันสังคมเอกชนได้ออกคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.5 ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์โจทก์ทราบหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมไป จำเลยทั้งสองจึงเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.6 จะเห็นได้ว่า การที่โจทก์ได้รับคำสั่งจากศูนย์ประกันสังคมเอกชนในนามจำเลยที่ 1 ให้ไปปฏิบัติงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2539แต่โจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่ง เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.5 ย้ำให้โจทก์ไปปฏิบัติงานภายในไม่เกินวันที่21 ตุลาคม 2539 โจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามหน้าที่อีก จำเลยทั้งสองจึงมีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.6 เลิกจ้างโจทก์ อ้างเหตุว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยทั้งสองโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งสองทั้งจำเลยทั้งสองได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว จึงมีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จำเลยทั้งสองจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ส่วนลำดับขั้นตอนการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.10 ข้อ 5. 24 ที่กำหนดให้จำเลยเตือนด้วยวาจาในครั้งแรก และออกหนังสือเตือนอีก 3 ครั้ง จึงจะเลิกจ้างลูกจ้างได้นั้น ก็เห็นว่าระเบียบดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดว่าให้ใช้แก่กรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น จะนำระเบียบนี้มาใช้บังคับแก่กรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งมีหลักเกณฑ์การวินิจฉัยแตกต่างจากการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และข้อ 47 หาได้ไม่ การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยทั้งสองได้
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้เตือนโจทก์ให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้านั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลรามาสุขสวัสดิ์ดังกล่าวเป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share