คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง แม้ผู้คัดค้านเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันมานานสิบกว่าปีจนผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านกับผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้คัดค้านกับผู้ตายประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยให้ผู้ร้องทั้งน้อง ๆ และหลานทำงานในอู่และรับเงินเดือนเป็นค่าจ้างผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ในการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบกับพฤติการณ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก เมื่อเห็นว่าการให้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านจัดการมรดกร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดกมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการมรดกฝ่ายเดียว ศาลย่อมตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นสามีของผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2532 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างนั้นมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหลายรายการ ได้แก่ ที่ดิน เงินฝากในธนาคาร ห้องชุด และรถยนต์ ผู้คัดค้าน จึงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง ผู้ร้องทั้งสองไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดก เนื่องจากไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย และไม่มีความรู้ความสามารถที่จะจัดการมรดกของผู้ตายให้เรียบร้อยและถูกต้อง ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องขอ และตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรม โดยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นสามีของผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง แม้ผู้คัดค้านเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันนานสิบกว่าปีจนผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อมีทรัพย์สินได้มาในระหว่างนั้นย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านกับผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ตามเอกสารหมาย ร. 7 ถึง ร. 9 ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้คัดค้านกับผู้ตายประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยให้ผู้ร้องทั้งสองรวมทั้งน้อง ๆ และหลานทำงานในอู่และรับเงินเดือนเป็นค่าจ้าง ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 การตั้งผู้จัดการมรดกศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบกับพฤติการณ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก เมื่อผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านไม่เป็นผู้ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก การให้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านได้จัดการมรดกร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดกมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการมรดกแต่ฝ่ายเดียว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share