แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างใหม่ พ. ผู้ร้องซึ่งซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาของศาล จึงมีสิทธิฎีกา
ในการขายทอดตลาดชั้นบังคับคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายที่พิพาทเพราะเห็นว่าราคาขายสูง กว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ราคาที่อนุญาตให้ขายนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ดังนี้ สมควรขายทอดตลาดที่พิพาทดังกล่าวใหม่.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน7,107,632.96 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์เป็นเงิน 7,107,632.96 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระให้เป็นรายเดือนภายในวันที่ 29 ของทุกเดือนติดต่อกัน เดือนละไม่น้อยกว่า 150,000บาท เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปและจะชำระให้เสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2527 หากผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โจทก์จึงยื่นคำร้องลงวันที่ 2 สิงหาคม 2527 ขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์จำนอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 7962 ตำบลโคกขามอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 5 ไร่ 36 ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินโฉนดเลขที่ 2087 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ประมาณ 284.6 ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขายทอดตลาดต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2528ซึ่งเป็นวันขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีคงขายทอดตลาดได้เฉพาะที่ดินรายการที่ 1 โดยขายให้แก่นายพรหม ศิริลักษณ์ผู้ให้ราคาสูงสุดในราคา 850,000 บาท ส่วนรายการที่ 2 โจทก์จำเลยต่างคัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินรายการที่ 2 ใหม่
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ขายทอดตลาดใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7962ต่ำกว่าราคาตามความเป็นจริงมาก สมควรให้มีการขายทอดตลาดใหม่ พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7962 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตำบลโคกขามอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครใหม่
นายพรหม ศิริลักษณ์ ผู้ร้องซึ่งซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในชั้นอุทธรณ์เพิ่งมาว่ากล่าวในชั้นฎีกา จึงไม่รับฎีกาของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของผู้ร้องต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาของศาล ให้รับฎีกาของผู้ร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘เดิมจำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 4,000,000 บาท โดยนำที่ดิน 2 แปลงรวมทั้งแปลงพิพาทและเรือยนต์อีก 2 ลำมาทำจำนองไว้เป็นประกันโดยเฉพาะที่พิพาททำจำนองไว้ครั้งหลังสุดในวงเงิน 2,500,000บาท ปรากฎตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์หมายเลข 2 ต่อมาจำนวนเงินเบิกเงินเกินบัญชีก่อนฟ้องมียอดถึง 7,107,632.96บาทที่พิพาทปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตีราคาในขณะยึดทรัพย์ไว้เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2527 เป็นเงิน 600,000 บาทปัญหามีว่า เมื่อมีการขายทอดตลาดต่อมา เมื่อวันที่ 2 เมษายน2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขายไปในราคาเพียง 850,000 บาทจะมีราคาต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงหรือไม่ ได้ความว่า ในวันขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว เฉพาะที่พิพาทมีผู้เข้าสู้ราคา 3 คน ผู้ร้องเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน850,000 บาท แต่การขายทรัพย์รายนี้ปรากฏว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างแถลงว่าราคาที่ขายยังต่ำไป แม้ต่อมาจำเลยกลับแถลงว่าราคาที่ขายยังต่ำไปแม้ต่อมาจำเลยกลับแถลงไม่คัดค้านแต่โจทก์ยังคงคัดค้านอยู่และแม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขายที่พิพาทได้เพราะเห็นว่า ราคาที่ขายสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ในขณะทำการยึดทรัพย์ ซึ่งมีราคา 600,000 บาทก็ตามแต่การที่โจทก์ยอมรับจำนองที่พิพาทไว้จากจำเลยเป็นเงินจำนวนถึง 2,500,000บาทและจำเลยเองก็เคยทำหนังสือยอมรับกับโจทก์ ตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์หมายเลข 3 ว่า ที่พิพาทมีราคาในขณะที่จำเลยทำหนังสือถึงโจทก์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2523 ว่ามีราคาไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท ย่อมแสดงว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่พิพาทไปในราคาเพียง 850,000 บาทนั้นมีราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ผู้ร้องคงอ้างแต่เพียงเอกสารหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินเพื่อใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าพนักงานที่ดินว่า ราคาที่พิพาทมีเพียง 466,750 บาทเท่านั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะการประเมินราคาของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นเพียงเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกค่าธรรมเนียม หาได้มีความหมายถึงว่าต้องเป็นราคาที่ดินที่แท้จริงไป ประกอบกับที่พิพาทที่ขายทอดตลาดนั้นยังมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างรวมอยู่ด้วย ซึ่งลำพังแต่สิ่งปลูกสร้าง เจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็ตีราคาไว้ถึง 700,000 บาทแล้ว ปรากฏตามรายงานการตรวจสอบสภาพหลักทรัพย์ประกันเอกสารหมายเลข 5 ท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7962 ใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย……..’
พิพากษายืน.