คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินจะระบุชื่อว่าเป็นเรื่องจำนำและเรียกคู่สัญญาว่าผู้รับจำนำและผู้จำนำ แต่สาระสำคัญของสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีสาระสำคัญระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี กรณีแรกระบุว่าจำเลยที่ 2 นำสมุดคู่ฝากเงินมาจำนำไว้โดยยอมให้ธนาคาร ม. หักหนี้ของจำเลยที่ 1 จากสมุดคู่ฝากเงินของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ กรณีที่สองระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ธนาคาร ม. อยู่อีกเท่าใด จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดชำระแก่ธนาคาร ม. จนครบถ้วน และตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันและตกลงรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้ธนาคาร ม. และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงมีความชัดเจนโดยธนาคาร ม. มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดทั้งสองกรณี และจำเลยที่ 2 มีความผูกพันตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ม. ทั้งสองกรณีเช่นกัน กล่าวคือ สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำสมุดคู่ฝากเงินของตนและเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หามีข้อสงสัยที่จะตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,138,510.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของเงินต้น 2,137,311.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,137,311.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 390,043.86 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยที่คำนวณได้ ณ วันที่ 4 เมษายน 2543 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบ ให้ยึดห้องชุดเลขที่ 5/170 ชั้นที่ 9 อาคารเลขที่ 5 ชื่ออาคารชุด “เซ็นจูเรียน ปาร์ค” ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 7/2536 ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 7903, 91168, 91169 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอดุสิต (บางซื่อ), พญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เห็นสมควรให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,390,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราเอ็ม. แอล. อาร์. บวกด้วย 0.5 ต่อปี และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินจำนวน 239,000 บาท กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เพื่อประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้จำเลยที่ 2 ยอมให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) นำเงินในสมุดคู่ฝากเงินมาคิดหักชำระหนี้ได้ทันที ตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ในต้นเงินจำนวน 2,137,311.57 บาท โจทก์ได้รับโอนกิจการจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ในทรัพย์สินรวมถึงหนี้สินคดีนี้ด้วย และโจทก์ได้นำเงินในสมุดคู่ฝากเงินของจำเลยที่ 2 มาคิดหักชำระหนี้ในหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งสามารถคิดหักชำระหนี้ได้เพียงในส่วนดอกเบี้ยเท่านั้น โดยศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,137,311.57 บาท พร้อมดอกเบี้ย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องได้บรรยายถึงมูลเหตุที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 จำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินและค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพื่อประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้จำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกัน ศาลฎีกาได้พิจารณาถึงสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินระหว่างธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนำหรือธนาคารกับจำเลยที่ 2 ผู้จำนำ ข้อ 1 มีใจความว่า “ผู้จำนำตกลงจำนำสิทธิของผู้จำนำ ซึ่งมีอยู่ตามตราสารสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ไว้แก่ผู้รับจำนำจำนวนเงิน 239,000 บาท ทั้งนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ทุกลักษณะ เช่น การกู้ยืม… และหนี้อื่น ๆ บรรดาที่ผู้จำนำและ/หรือนายสรรพิทย์ (จำเลยที่ 1) ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ลูกหนี้” ได้เป็นหนี้ผู้รับจำนำ…” ข้อ 2 มีใจความว่า “หากหนี้ดังกล่าวในข้อ 1 และ/หรือหนี้อันใดที่ลูกหนี้มีอยู่กับธนาคารถึงกำหนดชำระแล้ว หรือยังอยู่ในระหว่างอายุสัญญา หากธนาคารเห็นสมควรจะเลิกสัญญาหรือขอให้ชำระทั้งหมดเมื่อใด ผู้จำนำขอแสดงเจตนา ณ วันทำสัญญานี้ว่า ผู้จำนำตกลงยินยอมให้ผู้รับจำนำใช้สิทธิของผู้จำนำซึ่งมีอยู่ตามตราสารดังกล่าวข้างต้นที่จำนำหัก ยึด โอนเงินชำระหนี้แก่ธนาคารจนครบถ้วน และหากเป็นกรณีลูกหนี้ค้างชำระ ผู้จำนำตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ ทั้งนี้โดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้จำนำก่อน และตกลงรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญา และ/หรือสัญญาอื่นให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนบริบูรณ์ตามสัญญาที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้ธนาคารอยู่นั้น” และข้อ 7 มีใจความว่า “ถ้าลูกหนี้ผิดนัดผู้จำนำยอมให้ผู้รับจำนำบังคับชำระหนี้จากผู้จำนำก่อน และ/หรือจะบังคับจำนำเอาจากผู้จำนำแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ได้ โดยผู้จำนำยินยอมสละสิทธิบรรดาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 , 689 และ 690 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย” ดังนั้น แม้สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินจะระบุชื่อว่าเป็นเรื่องจำนำและเรียกคู่สัญญาว่าผู้รับจำนำและผู้จำนำดังข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่สาระสำคัญของสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีสาระสำคัญระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี กรณีแรกระบุว่า จำเลยที่ 2 นำสมุดคู่ฝากเงินมาจำนำไว้โดยยอมให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) หักหนี้ของจำเลยที่ 1 จากสมุดคู่ฝากเงินของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ กรณีที่สองระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) อยู่อีกเท่าใด จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดชำระแก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จนครบถ้วน และตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันและตกลงรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย สัญญาจึงมีความชัดเจนโดยธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้นและจำเลยที่ 2 มีความผูกพันตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ทั้งสองกรณีเช่นกัน กล่าวคือ สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำสมุดคู่ฝากเงินของตนและเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หามีข้อสงสัยที่จะตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วข้ออ้างประการอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share