แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งโรงงาน และมีกำลังการผลิตได้ไม่เกินนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้ติดตั้งลูกหีบในโรงงานโจทก์ และโจทก์มีโครงการจะติดตั้งลูกหีบ ซึ่งหากคำนวณกำลังการผลิตทั้งหมดแล้วจะเป็นจำนวนที่จำเลยถือว่าโจทก์เพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งต้องชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามมติคณะรัฐมนตรี หรือมิฉะนั้นโจทก์จะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขโรงงานของโจทก์ให้เป็นไปตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตไว้เดิม ซึ่งโจทก์ยอมรับโดยตรงว่าเครื่องจักรโรงงาน โจทก์มีกำลังการผลิตเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตไว้ นอกจากนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษ จำเลยที่ 2 ก็ได้ระบุไว้ในหนังสือนั้นว่า โจทก์ติดตั้งลูกหีบไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเกินสิทธิเดิม โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งเรื่องกำลังการผลิตดังกล่าวและไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.โรงงานพ.ศ.2512 ในเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่โจทก์การที่โจทก์ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายโดยเพิ่มขยายกำลังการผลิตเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตดังนั้น การที่คณะกรรมการทำการปรับเกี่ยวกับการลงโทษโรงงานน้ำตาล และการที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษก็ให้ชำระให้แก่รัฐโดยนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อประโยชน์แก่รายได้ของแผ่นดินอันเป็นส่วนรวม จึงมิใช่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนตน กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำการโดยสุจริต ส่วนการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่ผู้แจ้งความเชื่อว่า โจทก์กระทำผิดกฎหมาย ฉะนั้นการใช้สิทธิอันใดอันหนึ่งตามปกตินิยมหรือตามกฎหมายย่อมไม่เป็นการข่มขู่ นอกจากนี้ มติของคณะรัฐมนตรีที่ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลทรายนั้นไม่ได้ออกตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2512 มาตรา 33 แต่ออกตามรัฐธรรมนูญ หากไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีจะมีมาตรการให้ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ ซึ่งใช้แก่โรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนทุกแห่งไม่มีข้อยกเว้น แต่เนื่องจากคำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย และในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐเพื่อทางรัฐจะได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้โจทก์ต่อมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้สั่งระงับการกำหนดวันเปิดหีบอ้อยแก่โรงงานของโจทก์ ซึ่งเป็นไปตามมติส่วนใหญ่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมิใช่การชี้แนะของจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ แต่เป็นเรื่องต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐบาลเคยปิดโรงงานน้ำตาลทรายที่จังหวัดอื่น แต่ไม่สามารถปิดได้เนื่องจากชาวไร่อ้อยประท้วง นอกจากนั้นนโยบายของรัฐในการควบคุมการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายก็เพื่อมิให้ประชาชนและเศรษฐกิจของชาติเสียหายเป็นส่วนรวม แต่ในขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ต้องการทำลายการลงทุนของเอกชนด้วย จึงได้กำหนดนโยบายที่มีเงื่อนไขในการอนุญาตเพื่อป้องกันและปราบปรามมิให้โรงงานขยายกำลังผลิตหากฝ่าฝืนก็ต้องให้จ่ายเงินทดแทนแก่รัฐ ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 146 วรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือว่าได้กระทำในนามแห่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขตามมาตรา 3 การพิจารณาอนุญาตให้ตั้งประกอบกิจการและขยายโรงงานน้ำตาลทรายจึงต้องพิจารณาถึง พ.ร.บ.น้ำตาลทราย พ.ศ.2511พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2512ประกอบกัน ซึ่งถือเป็นงานบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดนโยบายแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดตั้งโรงงานโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขได้ ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีที่ได้กำหนดขึ้นไว้ใช้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของรัฐ โดยได้มีมติให้ลงโทษโรงงานที่ตั้งหรือขยายกำลังการผลิตเพิ่มจากที่ได้รับอนุญาตไว้เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมายให้จ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเกินสิทธิเดิม โรงงานใดไม่ประสงค์จะจ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐดังกล่าวก็ต้องแก้ไขปรับปรุงโรงงานของตนให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตไว้ แต่ถ้าจะขอตั้งโรงงานตามกำลังการผลิตที่ได้ติดตั้งไว้เกินสิทธิเดิมต้องจ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐในอัตราดังกล่าวเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศชาติอันเป็นมาตรการที่ใช้บังคับสำหรับผู้ฝ่าฝืนนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2512 โจทก์ทราบดีอยู่แล้วและโจทก์เคยยืนยันรับรองว่ายินดีจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขของทางราชการทุกประการดังกล่าวข้างต้น และโจทก์ก็ได้เลือกปฏิบัติในทางยินยอมชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐเพื่อประโยชน์ของโจทก์เองที่จะได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลทรายที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากที่เคยได้รับใบอนุญาตไว้โดยโจทก์เลือกไม่ยอมปรับปรุงแก้ไขหรือหรือดำเนินการในทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิม เงื่อนไขตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมิได้เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นนโยบายที่ได้กำหนดไว้โดยชอบนั้น เมื่อโจทก์เลือกปฏิบัติดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นความสมัครใจของโจทก์ในการทำสัญญายินยอมผ่อนชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ สัญญายินยอมผ่อนชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และมีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ