คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2487

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับมฤดกปกครองที่ดินมฤดกร่วมกันมา ผู้รับมฤดกคนหนึ่งโอนที่ดินมฤดกให้แก่บุตรของตนโดยไม่สุจริต ผู้รับมฤดกอื่นฟ้องขอเพิกถอนได้ตามมาตรา 1300,และ 1359
เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การรับหรือปฏิเสธข้อที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ต้องถือว่าจำเลยรับและศาลฟังตามฟ้องได้

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่าอสังหาริมทรัพย์รายพิพาทมีราคาหมื่นบาท เป็นทรัพย์ระหว่างนางเลื่อนกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นบุตรนางเลื่อน นางเลื่อนตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม์ โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ กับจำเลยที่ ๑ ปกครองมฤดกร่วมกันมา ต่อมาจำเลยที่ ๑ โอนทรัพย์พิพาทนั้นให้แก่จำเลย ที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรภรรยาน้อย โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการโอน
ศาลแพ่งพิพากษาให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยรับโอนทรัพย์รายพิพาทจากจำเลยที่ ๑ โดยไม่สุจริต โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนการโอนได้ตามมาตรา ๒๓๗ และ ๑๓๐๐ ประมวลแพ่ง ฯ จำเลยที่ ๒ จะอ้างสิทธิตามมาตรา ๑๒๙๙ ไม่ได้ จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้พิพาทกันเรื่องนิติกรรมเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ จึงวินิจฉัยฉะเพาะข้อกฎหมายดังนี้ (๑) จำเลยว่าศาลอุทธรณ์ฟังว่านางเลื่อนมีสินเดิม เพราะจำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่านางเลื่อนไม่มีสินเดิมนั้นคลาดเคลื่อน ศาลฎีกาเห็นว่าตามวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ จำเลยต้องให้การว่ารับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ให้การต่อสู้ไว้ก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามมาตรา ๘๔ โจทก์ไม่ต้องนำสืบ (๒) ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยจะอ้าง ม.๑๒๙๙ วรรค ๒ ไม่ได้เพราะศาลล่างฟังมาแล้วว่ารับโอนโดยไม่สุจริต (๓) จำเลยว่าศาลจะอ้างม.๑๓๐๐ มาเพิกถอนการโอนไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ ๑ โอนทรัพย์ที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของร่วมกันให้แก่จำเลยที่ ๒ ทั้งหมดตาม ม.๑๓๕๙ โจทก์จึงให้สิทธิฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นคนภายนอกเพื่อบังคับครอบถึงทรัพย์ทั้งหมดได้ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกคืน จึงไม่ต้องคำนึงว่า โจทก์มีส่วนเท่าไร (๔) จำเลยว่าศาลให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา ๒๓๗ คลาดเคลื่อน ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ต้องวินิจฉัย เพราะเพิกถอนได้ตามมาตรา ๑๓๐๐ อยู่แล้ว จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share