คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 63 ให้อำนาจศาลที่จะทำการสอบสวนเรื่องผู้แทนนิติบุคคลจนเป็นที่พอใจได้
ผู้แทนนิติบุคคลมอบอำนาจให้ฟ้องความแล้ว แม้ผู้มอบอำนาจจะตายลง ก็ไม่ทำให้ใบมอบอำนาจในนามของนิติบุคคลนั้นเสียไป
สำเนาเอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยรับอยู่ในตัว โจทก์ไม่จำต้องส่งต้นฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเบิกเงินเกินบัญชีในธนาคารของโจทก์ชำระเงินที่เบิกเกินไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยและขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ และ ๓ ให้การร่วมกันว่าจำเลยที่ ๑ แจ้งให้จำเลยที่ ๒ และ ๓ ทราบว่า หนี้สินรายนี้ได้ชำระเสร็จสิ้นแล้ว การค้ำประกันจึงหมดข้อผูกพันไปแล้ว โจทก์ไม่เคยทวงถาม ถ้าหนี้มีอยู่จริง จำเลยก็ไม่ควรรับผิดเกินกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนและจะคิดดอกเบี้ยเกิน ๕ ปีไม่ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และจำเลยที่ ๒ ให้การเพิ่มเติมว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มอบไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจสิ้นสภาพไปด้วยมรณกรรมของผู้มอบอำนาจ สัญญากู้หรือสัญญาค้ำประกันใช้ไม่ได้ เพราะทำโดยใช้ถ้อยคำลวง ปกปิดอำพรางโดยไม่สุจริต เป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่กู้เกินต้นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การคิดดอกเบี้ยเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี แล้วเอาดอกเบี้ยทบต้นทุกเดือน เมื่อคิดรวมตลอดปีแล้วดอกเบี้ยจะสูงกว่าร้องละ ๑๕ ต่อปี เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๔๗๕ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ และจำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงินให้โจทก์เกินกว่า ๕๐,๐๐๐ บาทแล้ว จำเลยที่ ๒ และ ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิด ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินโจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และ ๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดเต็มจำนวนทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๒ และ ๓ ต้องรับผิดเพียง ๕๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒-๓ ฎีกาอย่างอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วยกเว้นค่าธรรมเนียมบางส่วนให้จำเลยที่ ๒ ยกคำร้องขออนาถาของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ มิได้นำค่าธรรมเนียมมาชำระ ศาลชั้นต้นจึงสั่งรับเฉพาะฎีกาจำเลยที่ ๒ ไม่รับฎีกาจำเลยที่ ๓
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจตามสำเนาท้ายฟ้องไม่ชอบ เพราะผู้มอบอำนาจตาย ใบมอบอำนาจจึงใช้ไม่ได้ และโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๓ ให้อำนาจศาลที่จะทำการสอบสวนเรื่องผู้แทนนิติบุคคลจนเป็นที่พอใจได้ ศาลพิเคราะห์สำเนาใบมอบอำนาจประกอบคำพยานโจทก์แล้ว เชื่อว่ามีการมอบอำนาจให้ผู้แทนโจทก์อันเป็นนิติบุคคลมาฟ้องคดีนี้แทนจริง การที่ผู้มอบอำนาจตาย ไม่ทำให้ใบมอบอำนาจในนามของธนาคารโจทก์เสียไป ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้เงินเกินบัญชีใช้คำว่า วิธีการและประเพณีของธนาคาร นั้น จำเลยไม่เข้าใจ เป็นการปิดบังอำพราง ลวงฉ้อฉล นั้น จำเลยแสร้งทำไม่เข้าใจ ที่จำเลยฎีกาว่าบัญชีเดินสะพัดตามสำเนาท้ายฟ้องโจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับ รับฟังไม่ได้นั้น บัญชีเดินสะพัดตามสำเนาท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง จำเลยไม่ปฏิเสธ จึงต้องถือว่าจำเลยรับ โจทก์ไม่จำต้องส่งต้นฉบับ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ได้ชำระหนี้เงินต้น ๕๐,๐๐๐ บาทแล้วนั้น บัญชีแระแสรายวันอันมีลักษณะเป็นบัญชีเดินสะพัดตามสำเนาท้ายฟ้องนั้น ย่อมมีการถอนเงินออกและนำเงินเข้าในลักษณะที่คิดหักหนี้กันเป็นประจำวันจะถือเอารายการใดรายการหนึ่งเป็นหนี้เฉพาะรายตายตัวไม่ได้ ต้องคิดหักกลบลบหนี้กันเสียก่อน ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เรียกร้องดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี จึงเป็นโมฆะนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยตามต้นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดไปใช้ถึงดอกเบี้ยที่โจทก์คิดมา และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยแล้ว
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share