คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทั้งในคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และในคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งบอกค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 เพียง 14,700,159.77 บาทแทนที่จะเป็น 18,700,159.77 บาท จึงเป็นผลทำให้ยอดค่าเสื่อมราคาที่กล่าวข้างต้นสูงกว่าจำนวนเงินที่ระบุในข้อ 2.1.1 ไป 4,000,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้ระบุถึงความเป็นมาของยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน 18,700,157.77 บาทว่าได้มาอย่างไร และยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน 14,700,157.77 บาทไม่ถูกต้องอย่างไร การกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆจำเลยไม่สามารถสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ได้ยอมรับว่าโจทก์ได้ให้บริการรับประทานอาหารฟรีแก่พนักงานของโจทก์บนเรือขุดแร่ กรณีย่อมถือได้ว่าพนักงานที่ทำงานบนเรือขุดแร่ได้รับประโยชน์ในทางทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นเนื่องจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าการเลี้ยงอาหารแก่พนักงานบนเรือดังกล่าวถือเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงถือเป็นเงินได้ของพนักงานของโจทก์ซึ่งได้รับอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่ง ป.รัษฎากร และเงินได้ในส่วนดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อจำเลย
เรือขุดแร่ของ ท.ที่มีการซื้อขายในคดีนี้ได้ถูกออกแบบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเพื่อใช้งานสำหรับขุดแร่บริเวณที่ ท.ได้รับสัมปทานโดยเฉพาะ เมื่อการทำแร่จะต้องได้รับสัมปทานและ ท.ถูกเพิกถอนสัมปทานไปแล้ว ท.จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองอะไรกับโจทก์หรือผู้ซื้อทรัพย์สินรายใดได้ ส่วนหนังสือแจ้งราคาเรือที่ต่อใหม่ของบริษัท ม. ก็ปรากฏว่ามีมาถึงโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินไปแล้ว การยืนยันราคาเรือก็เป็นการยืนยันย้อนหลัง แสดงว่าในการทำหนังสือสอบถามราคาไปก็เพียงแต่จะเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นมาประกอบการซื้อทรัพย์นั้น ไม่มีเจตนาจะให้มีการต่อเรือกันจริง หนังสือที่ทางบริษัท ม.แจ้งมายังโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ สำหรับข้อที่โจทก์อ้างว่าหลังจากซื้อเรือขุดแร่จาก ท. แล้ว ได้ประกันภัยในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อมาของโจทก์ โจทก์คงอ้างแต่เพียงลอย ๆ โดยไม่แสดงหลักฐานใด ๆ นอกจากนี้การกำหนดราคาเอาประกันภัยไม่อาจถือเป็นราคาอันสมควรได้เพราะคู่สัญญาประกันภัยสามารถตกลงวงเงินเอาประกันภัยเท่าใดก็ได้ เพียงแต่หากเกิดความเสียหายก็จะชดใช้ให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ดังนั้นราคาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจึงมิใช่ราคาตลาดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและไม่อาจเชื่อถือได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าราคาที่โจทก์และ ท.ทำการตกลงซื้อขายนั้นเป็นราคาของมูลค่าทรัพย์สินตามปกติที่อาจสามารถซื้อขายกันได้ หาได้มีลักษณะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่มีราคาสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ประการใดนั้น จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของจำเลยได้ความว่าในการลงบัญชีทรัพย์ที่ซื้อมาโดยที่สัญญาซื้อขายทรัพย์สินระบุเป็นรายการใหญ่ ๆ ต้องหาวิธีลงบัญชีเพื่อแยกเป็นรายการย่อย ๆจึงได้ใช้ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นมาเพื่อคำนวณหามูลค่าทรัพย์สินเพื่อใช้ลงบัญชี ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นเป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายในการแต่งเรือย้อนหลังไป 1 ปี มีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 16 การเปรียบเทียบจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน แต่กรณีของโจทก์ทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 4 ปี การนำดัชนีราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับกรณีของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ราคาต้นทุนทรัพย์สินตามบัญชีท.มีราคา 221,934,959.44 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ ท.ได้หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและได้นำไปใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ท.ไปแล้วและ ท.หักค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นการหักค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำอยู่แล้ว การที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินของ ท.มาในราคา332,800,000 บาท จึงเป็นราคาที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินหนี้สินและสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขายและซื้อทรัพย์สินและหนี้สินมีการระบุรายละเอียดรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่โจทก์ซื้อจาก ท.ไว้ โดยไม่มีการระบุว่ามีการซื้อขายเจ้าหนี้ระยะยาวรายของบริษัท ซ.และบริษัท ช.ไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายดอกเบี้ยแทน ท.ไป โดยค่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าดอกเบี้ยของหนี้สินระยะยาวซึ่งโจทก์มิได้ผูกพันด้วยค่าดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปจึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพราะเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงนำรายจ่ายดังกล่าวมาคิดคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้

Share