แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญา ไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่โจทก์ฝากขายไว้คืนแก่โจทก์ ในสภาพเรียบร้อยได้ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์ 70,000 บาท ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ มีความประสงค์หลักให้จำเลยคืนรถยนต์นั่นเอง หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาเท่าราคารถยนต์ การที่ศาลล่างทั้งสองมี คำพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาแทนโดยตีราคารถยนต์ต่ำกว่า ที่โจทก์ขอ จึงมีอำนาจที่จะพิพากษาได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์เก๋งยี่ห้อซูบารุคันหมายเลขทะเบียน ก – ๘๓๘๒ ราชบุรี โจทก์ได้ทำ สัญญาฝากขายรถยนต์กับจำเลยโดยจำเลยได้รับมอบรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ดี หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ จำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบ จำเลยไม่สามารถขายรถยนต์ของโจทก์ได้ ต่อมาโจทก์ติดต่อขายรถยนต์ได้จึงขอรับรถยนต์คืน แต่รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจาก การกระทำของจำเลยเป็นค่าเสียหายเท่าราคารถยนต์ในขณะทำสัญญาเป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยเฉพาะให้จำเลยชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาของรถยนต์ขณะทำสัญญาฝากขายรถยนต์เป็นจำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท นั้น ไม่ถูกต้องเพราะ เมื่อสัญญาฝากขายรถยนต์เลิกกันโจทก์คงมีสิทธิเรียกรถยนต์คืน หากคืนไม่ได้จึงจะบังคับให้ใช้ราคาแทน ราคาของรถยนต์ ขณะทำสัญญาฝากขายควรกำหนดให้ตามความเหมาะสมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน ก – ๘๓๘๒ ราชบุรี คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก – ๘๓๘๒ ราชบุรี เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๗ โจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปทำสัญญาฝากขายไว้กับจำเลย ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยเป็นที่ เรียบร้อยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องขายในราคา ๗๐,๐๐๐ บาท และจะดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ใช้การได้ดี หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญา จำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบหลังจากนั้นจำเลย ขายรถยนต์ของโจทก์ไม่ได้ ต่อมาวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๓๘ โจทก์หาผู้ซื้อรถยนต์ได้เองจึงไปขอรับรถยนต์คืนจากจำเลย แต่ไม่สามารถนำรถยนต์กลับคืนมาได้ เนื่องจากรถยนต์ได้รับความเสียหายกล่าวคือจำเลยปล่อยให้ไฟในแบตเตอรี่หมด ติดเครื่องไม่ได้ แล้วเข็นรถโดยใช้เกียร์กระชากเป็นเหตุให้ลูกสูบแตก จำเลยจึงถอดเครื่องยนต์ไปซ่อม แต่ก็ไม่ซ่อม ให้เสร็จ ส่วนตัวรถยนต์จำเลยปล่อยให้น้ำท่วมผุ
ปัญหาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาแทน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นเป็นการเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้องหรือไม่เพราะโจทก์ตั้งรูปฟ้องแล้วมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเท่าราคาของรถยนต์ขณะทำสัญญาฝากขายเป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท โจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ เห็นว่า ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องกล่าวหาว่าจำเลย ผิดสัญญาไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่โจทก์ฝากขายไว้คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยได้ เมื่อทางพิจารณาได้ความตามฟ้อง แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์ ๗๐,๐๐๐ บาท ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีความประสงค์หลักให้จำเลยคืนรถยนต์นั่นเอง หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาเท่าราคารถยนต์ การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้จำเลยคืน รถยนต์แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาแทนโดยตีราคารถยนต์เพียง ๕๐,๐๐๐ บาท ต่ำกว่าที่โจทก์ขอ จึงมีอำนาจที่จะพิพากษาได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้อง
พิพากษายืน.