คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228/2473

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเรียกทรัพย์ทั้งหมดได้ความว่าเปนมฤดกแบ่งได้ พ.ร.บ.ฎีกาอุทธรณ์ ปัญหากฎหมาย

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์เปนบุตร์นายน้อยกับนางเวิง ฝ่ายจำเลยเปนบุตร์นายน้อยกับนางแระ เกิดฟ้องร้องเรียกมฤดก
ปรากฏว่าที่ดินรายพิพาทเปนของ อ.บิดานางแระ อ.ตาย ที่ดินตกเปนของนางแระเมื่อระวางเปนภรรยานายน้อย ที่ดินจึงเปนสมรสระวางนายน้อยกับนางแระ ต่อมานางแระตาย นายน้อยจึงมาได้นางเวิงมารดาโจทก์เปนภรรยา ต่อมานายน้อยตาย โจทก์กับนางเปลี่ยนจำเลยและนางเวิงครองที่มาด้วยกันฉะเพาะตอนกลาง นอกนั้นโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้อง ต่อมานางเวิงตาย
ศาลเดิมให้แบ่งดังนี้ คือ ที่ดินฉะเพาะที่ปกครองให้แบ่งเปน ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งเปนสมรสนางแระได้แก่นางเปลี่ยนคนเดียว อีก ๒ ส่วนเปนมฤดกนายน้อย แบ่งเปน ๒ ภาค คือ ภาคภรรยาได้แก่นางเวิง นางเวิงตาย มฤดกตกเปนของโจทก์และบุตร์นางเวิง ภาคญาติได้แก่โจทก์ทั้ง ๒ และนางเปลี่ยนจำเลยนางเทียนกับหลวงเวช ฯ
ศาลอุทธรณ์ให้แบ่งดังนี้ คือ ที่ศาลเดิมยกสินสมรสนางแระให้แก่นางเปลี่ยนคนเดียวไม่ถูก เพราะนางแระตายก่อนนายน้อย ต้องแบ่งสมรสนั้นเปน ๒ ภาค ภาคหนึ่งได้แก่นางเปลี่ยน อีกภาคหนึ่งได้แก่นายน้อยสามีและเอาไปรวมกับมฤดกนายน้อยแบ่งต่อไป แต่ให้ตัดนางเทียน หลวงเวชออกเสียเพราะไม่ได้ความว่าได้เกี่ยวข้องกับมฤดกรายนี้
จำเลยฎีกาเปนปัญหากฎหมายว่า
๑ ) ศาลจะพิจารณาคดีนี้เหมือนคดีมฤดกโดยแบ่งที่พิพาทให้แก่โจทก์มิได้
๒ ) ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมฤดกแล้ว
๓ ) ศาลอุทธรณ์ไม่ควรแบ่งมฤดกให้โจทก์ได้มากกว่าจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามปัญหาข้อ ๑ ที่ศาลล่างจัดการให้แบ่งมฤดกรายนี้ไปทีเดียวถูกแล้ว ตาม พรบ วิธีพิจารณาแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ ม.๓๙
ส่วนปัญหาข้อ ๒ ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ เพราะโจทก์จำเลยต่างได้ปกครองที่รายนี้มาด้วยกัน ทั้งศาลล่างตัดสินให้แบ่งมฤดกก็แต่ฉะเพาะที่ ๆ ได้ปกครองร่วมกันเท่านั้น
และปัญหาข้อ ๓ศาลอุทธรณ์ตัดสินชอบด้วยเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว จึงตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์

Share