คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12258/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำเช็คของธนาคาร ส. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 จำนวนเงิน 9,450 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เท่ากับเงินไทย 385,371 บาท ซึ่งมี ก. เป็นผู้สั่งจ่ายมาให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคารเจ้าของเช็คแทนจำเลย เมื่อโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยเท่ากับจำนวนเงินในเช็ค ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้จำเลยในฐานะผู้ทรงเช็คเข้าใจได้ว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีนั้นเป็นเงินตามเช็ค การที่จำเลยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของจำเลยเพียงบางส่วนจำนวน 120,000 บาท ทั้งที่สามารถเบิกถอนออกจากบัญชีได้ในคราวเดียวทั้งหมด จึงไม่น่าจะเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริต เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินไว้โดยไม่สุจริต จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 เมื่อปรากฏว่าจำนวน 120,000 บาท ที่จำเลยเบิกถอนไปนั้น ส่วนหนึ่งจำเลยได้โอนคืนให้ บ. ภริยาของ ก. อีกส่วนหนึ่งนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ของวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยได้รับแจ้งจากพนักงานของโจทก์ว่าเช็คที่จำเลยให้โจทก์เรียกเก็บแทนนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงถือว่าในวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นเวลาขณะเมื่อเรียกเงินคืน จำเลยไม่มีเงินเหลือที่จะคืนให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ 123,254.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินคืนโจทก์ 123,254.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยนำเช็คของธนาคารสมิธ บาร์นี ซิตี้กรุ๊ป ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 จำนวนเงิน 9,450 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เท่ากับเงินไทย 385,371 บาท ซึ่งมีนายกาเรทเป็นผู้สั่งจ่ายมาให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคารเจ้าของเช็คแทนจำเลย เมื่อโจทก์ได้โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยเท่ากับจำนวนเงินในเช็คก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้จำเลยในฐานะผู้ทรงเช็คเข้าใจได้ว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีนั้นเป็นเงินตามเช็ค การที่จำเลยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของจำเลยเพียงบางส่วนจำนวน 120,000 บาท ทั้งที่สามารถเบิกถอนออกจากบัญชีได้ในคราวเดียวทั้งหมด จึงไม่น่าจะเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริตของจำเลย ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยทราบอยู่แล้วว่าเงินที่จำเลยเบิกถอนไปไม่ใช่เงินที่เรียกเก็บได้ตามเช็คนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ขัดกับพฤติการณ์แห่งคดี จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินไว้โดยไม่สุจริต จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเงินจำนวน 120,000 บาท ที่จำเลยเบิกถอนไปนั้น ส่วนหนึ่งจำเลยได้โอนคืนให้นางเบลสซิ่งภริยาของนายกาเรท อีกส่วนหนึ่งนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ของวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยได้รับแจ้งจากพนักงานของโจทก์ว่าเช็คที่จำเลยให้ธนาคารโจทก์เรียกเก็บแทนนั้นถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงถือว่าในวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นเวลาขณะเรียกเงินคืน จำเลยไม่มีเงินเหลือที่จะคืนให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share