คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พลตรี น. ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารฉบับพิพาท คงมีพันเอก พ. ลงชื่อเป็นพยานเพียงคนเดียวเท่านั้น พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 จำเลยที่ 3 ไม่อาจอาศัยพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทมาอ้างอิงแสวงสิทธิใดๆ ได้
พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเป็นพินัยกรรมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมเขียนข้อความในส่วนสาระสำคัญด้วยลายมือตนเองทั้งหมด มีใจความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตายก็ได้ ทั้งนี้ ข้อความที่เขียนด้วยลายมือตนเองต้องมีข้อความที่อ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่ใคร แต่พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทเป็นแบบพิมพ์พินัยกรรมของทางราชการทหาร ซึ่งพิมพ์ข้อความกำหนดการเผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรมไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คงเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ทำพินัยกรรมกรอกแต่เฉพาะสถานที่และวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมกับชื่อของผู้ทำพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมและลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น หากตัดข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ออกเสียให้เหลือแต่เฉพาะข้อความที่พลเอก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเขียนด้วยลายมือตนเองก็ไม่มีความหมายเป็นพินัยกรรม พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงไม่เป็นพินัยกรรมแบบผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างเป็นเรื่องอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกที่ตนมีสิทธิได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทตกเป็นโมฆะ ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 เป็นโมฆะ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นมารดาของพลเอกอนนท์ เจ้ามรดกซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นภริยาของพลเอกอนนท์ มีบุตรด้วยกันสองคน คือ เด็กชายณพวุฒิ (นัท) กับเด็กชายใหม่ จำเลยที่ 2 เคยเป็นภริยาของพลเอกอนนท์ มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ จำเลยที่ 3 แต่ภายหลังได้หย่าขาดจากกัน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2527 พลเอกอนนท์ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สิน คือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวม 11 แปลง กับรถยนต์ 1 คัน และทรัพย์สินที่จะมีขึ้นในอนาคตให้แก่โจทก์ หลังจากที่พลเอกอนนท์ถึงแก่ความตายแล้วจำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอเป็นผู้จัดการมรดกพลเอกอนนท์ โดยอ้างว่าพลเอกอนนท์ทำพินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 ยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 กับเด็กชายณพวุฒิและจำเลยที่ 3…
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า พินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 มีผลใช้บังคับได้นั้น เห็นว่า พินัยกรรมทหารฉบับดังกล่าวมีลายมือชื่อของพลตรีนิพัทธ์ กับพันเอกไพชยนต์ อยู่ในช่องพยาน แต่พลตรีนิพัทธ์พยานโจทก์เบิกความว่าไม่เคยลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารฉบับนั้นเลย ส่วนพันเอกไพชยนต์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2540 พลเอกอนนท์นำพินัยกรรมทหารฉบับดังกล่าวมาให้พยานลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ขณะนั้นพลตรีนิพัทธ์ไม่ได้อยู่ในที่นั้นด้วย พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เป็นเพื่อนนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกันกับพลเอกอนนท์เจ้ามรดก ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีที่พิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่ตนรู้เห็น คำเบิกความของพลตรีนิพัทธ์กับพันเอกไพชยนต์มีน้ำหนักน่ารับฟัง ไม่มีข้อพิรุธอันชวนให้ระแวงสงสัยเลยแม้แต่น้อย ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าพลตรีนิพัทธ์ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 คงมีพันเอกไพชยนต์ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารเพียงคนเดียวเท่านั้น พินัยกรรมทหารฉบับดังกล่าวจึงทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันและพยานสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น พินัยกรรมทหารฉบับนี้จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 จำเลยที่ 3 ไม่อาจอาศัยพินัยกรรมทหารฉบับดังกล่าวมาอ้างอิงแสวงสิทธิใด ๆ ได้
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า หากพินัยกรรมทหารฉบับนั้นตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ก็อาจมีผลสมบูรณ์ในฐานะที่เป็นพินัยกรรมที่เจ้ามรดกเขียนเองทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเป็นพินัยกรรมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมเขียนข้อความในส่วนสาระสำคัญด้วยลายมือของตนเองทั้งหมด มีใจความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตายก็ได้ ทั้งนี้ ข้อความที่เขียนด้วยลายมือตนเองต้องมีข้อความที่อ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่ใคร แต่พินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 เป็นแบบพิมพ์พินัยกรรมของทางราชการทหาร ซึ่งพิมพ์ข้อความกำหนดการเผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรมไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คงเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ทำพินัยกรรมกรอกแต่เฉพาะสถานที่และวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมกับชื่อของผู้ทำพินัยกรรมผู้รับพินัยกรรมและลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เบิกความรับว่าหากตัดข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ออกเสียให้เหลือแต่เฉพาะข้อความที่พลเอกอนนท์เขียนด้วยลายมือตนเองก็ไม่มีความหมายเป็นพินัยกรรม พินัยกรรมทหารฉบับนี้จึงไม่เป็นพินัยกรรมแบบที่ผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่ามีพินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่าบทกฎหมายที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างเป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกที่ตนมีสิทธิได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ซึ่งต้องอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งอายุความ แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมทหารฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 ตกเป็นโมฆะ ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share