แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นย่อมมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยในคดีที่โจทก์ได้ยึดทรัพย์ของจำเลยขายทอดตลาดไว้ได้ ในเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังมีทรัพย์อื่น แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจยึดทรัพย์นั้นได้ตามกฎหมาย หรือจำเลยมีทรัพย์เป็นจำนวนไม่พอชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้โดยสิ้นเชิง
ย่อยาว
เดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินกู้ จำเลยตกลงทำยอมแล้วไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดได้เงิน42,500 บาท
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีอื่นเป็นจำนวน 50,000 บาท จึงร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้
โจทก์ค้านว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์อื่นอีก
ในวันไต่สวน จำเลยที่ 1 แถลงรับว่ายังมีทรัพย์สินอื่นอีก 5 รายการแต่ถูกนายโค้ว แซ่โค้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเรื่องอื่นยึดไว้ และยังมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาอีก 2 ราย เงิน 20,916 บาท ผู้ร้อง โจทก์ และจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ อีก ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาของตนได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์อีก 5 รายการก็จริงอยู่แต่นายโค้ว แซ่โค้ว ยึดไว้เสียแล้วยังไม่ได้ขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์ดังกล่าวอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคแรก สำหรับหนี้ตามคำพิพากษา 2 รายก็มีอยู่ไม่เกิน 30,000 บาท เป็นจำนวนไม่พอชำระหนี้ให้ผู้ร้องได้โดยสิ้นเชิง และผู้ร้องก็ไม่มีหน้าที่ต้องไปร้องขอสวมสิทธิของจำเลยที่ 1 บังคับคดีต่อไป เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ได้ ก็ชอบที่ศาลจะอนุญาตตามคำร้องขอเฉลี่ยของผู้ร้อง
พิพากษายืน