คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยแสดงความจำนงต่อจำเลยทั้งสองว่าจะใช้ของที่นำเข้ามานั้นในการผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี เพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 และโจทก์มิได้ชำระอากรขาเข้าเพราะได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแทนการชำระภาษีอากรที่จะต้องเสีย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนี้ การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินค่าภาษีอากรนั้น มาตรา 19 ทวิบัญญัติไว้เพียงกรณีเดียว คือ เมื่อได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก)- (จ) ด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ส่งของที่ผลิตด้วยเส้นด้ายใยยาวสังเคราะห์ทำด้วยโปลีเอสเตอร์และผ้าทอโปลีเอสเตอร์ใยสั้นที่ได้นำเข้า ออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด1 ปี จึงไม่อาจขอคืนเงินค่าภาษีอากรที่ได้ชำระหรือขอคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามมาตรา 19 ทวิ
แม้ว่าของที่โจทก์นำเข้าทั้งที่ยังมีสภาพเป็นวัตถุดิบและที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วอยู่ในขั้นเตรียมการเพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหมดขณะที่เก็บไว้ในโรงงานของโจทก์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือเรียกหนังสือค้ำประกันคืนจากจำเลยในก่อนนี้ได้
ตามมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 เป็นบทบัญญัติในหมวด 10 ว่าด้วยการเก็บของในคลังสินค้า ซึ่งบัญญัติให้อำนาจอธิบดี-กรมศุลกากรในอันที่จะยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสียหรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้วสำหรับของที่เก็บในคลังสินค้า หรือที่ยื่นใบขนเพื่อเก็บในคลังสินค้าหรือที่ยื่นใบขนเพื่อรับมอบไปจากคลังสินค้าแล้วเกิดการสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงเสียได้ ในขณะที่อยู่บนเรือหรือในเวลาย้ายถอนขนขึ้น ในเวลารับเข้าเก็บในคลังสินค้า หรือเวลาที่เก็บอยู่ในคลังสินค้า แต่โรงงานของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บของที่นำเข้าดังกล่าว มิได้เป็นคลังสินค้า ฉะนั้น แม้เพลิงจะได้ไหม้ของที่โจทก์นำเข้าทั้งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพเป็นวัตถุดิบที่เก็บรักษาในอาคารโรงงานของโจทก์จนเสียหายไปทั้งหมด ไม่ว่าการที่เกิดเพลิงไหม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงเสียได้ อธิบดีกรมศุลกากรก็ไม่มีอำนาจที่จะยกเว้นค่าภาษีที่จะต้องเสียหรือคืนค่าภาษีที่ได้เสียแล้วสำหรับของนั้นให้แก่โจทก์
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ว่า การที่โจทก์ไม่สามารถผลิตสินค้าและส่งสินค้าออกภายในกำหนด 1 ปี มิใช่ความผิดของโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชอบในค่าภาษีอากรตามฟ้องและสมควรได้รับอากรขาเข้าคืน ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 19 ทวิ หรือไม่เป็นการไม่ชอบนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยว่า การที่ของที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้อง ทั้งที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพเป็นวัตถุดิบซึ่งโจทก์เก็บรักษาไว้ที่โรงงานของโจทก์ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมด ทำให้โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้าที่ผลิตหรือประกอบหรือผสมหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้า ออกไปยังเมืองต่างประเทศ แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับค่าภาษีอากรที่ได้ชำระไว้แล้วคืนจากจำเลยทั้งสอง เป็นการวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าที่ผลิตด้วยของที่นำเข้าไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี แม้จะมิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าภาษีอากรที่ได้เสียไปแล้วคืน จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทแล้ว

Share