คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1218/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่มา 3 ครั้ง แต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนายจ้างจึงลงโทษเพียงการตักเตือนเป็นหนังสือทั้งสามครั้ง เมื่อลูกจ้างไม่ได้มากระทำผิดซ้ำคำตักเตือนอีกเป็นครั้งที่สี่ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอาศัยเหตุที่เคยลงโทษไปแล้วเช่นนี้เท่ากับเป็นการลงโทษซ้ำความผิดที่ได้ลงโทษตักเตือนไปแล้วอีกจึงเป็นการเลิกจ้างที่มิชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ทั้งเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าไม่จ่ายค่าชดเชย และเป็นการกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำผิดระเบียบของจำเลยโดยละทิ้งหน้าที่หลายครั้ง จนจำเลยต้องตักเตือนเป็นหนังสือถึง 3 ครั้ง เป็นการกระทำความผิดซ้ำคำเตือน จำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 ครั้งซึ่งจำเลยเตือนเป็นหนังสือแล้ว โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นการซ้ำคำเตือน จำเลยมีข้อบังคับการทำงาน ข้อ 26 ระบุว่าโทษทางวินัยมี 3 สถานดังนี้ (1) ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาหรือหนังสือ(2) ตัดเงินเดือนหรือลดค่าจ้างและ/หรือไม่ขึ้นเงินเดือนไม่เกิน3 ปีติดต่อกัน (3) พักงานหรือเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจำเลยต้องลงโทษตามขั้นตอน จำเลยมีสิทธิลงโทษสถานใดสถานหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ และข้อบังคับข้อ 26 วรรคท้าย ระบุว่า พนักงานที่กระทำความผิดและถูกลงโทษสถาน (1) และ/หรือ (2) รวมกัน 3 ครั้งถือว่าผู้นั้นกระทำผิดร้ายแรงซึ่งบริษัทอาจลงโทษสถาน (3) ได้โดยไม่ต้องตักเตือนแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 ครั้งและถูกตักเตือนเป็นหนังสือ 3 ครั้ง ถือว่าโจทก์กระทำผิดและถูกลงโทษตาม (1) รวม 3 ครั้ง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องตักเตือน และกรณีเช่นนี้ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและการเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า โจทก์กระทำผิดฐานละทิ้งหน้าที่รวม 3 ครั้ง ซึ่งการละทิ้งหน้าที่ใน2 ครั้งแรก จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือทั้งสองครั้งในครั้งที่ 3 จำเลยก็ลงโทษโจทก์เพียงการตักเตือนเป็นหนังสืออีกการตักเตือนเป็นหนังสือหมายความว่าห้ามกระทำผิดเรื่องนั้นซ้ำอีกมิฉะนั้นจะลงโทษสถานหนัก แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำผิดฐานละทิ้งหน้าที่เป็นครั้งที่ 4 อันจะเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนซึ่งได้เตือนไว้แล้วรวม 3 ครั้ง การที่จำเลยลงโทษเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าได้ตักเตือนไว้แล้วนั้น จึงเท่ากับว่าจำเลยกระทำผิดครั้งเดียวแต่ถูกลงโทษถึงสองครั้ง การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)พิเคราะห์แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 บัญญัติว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือนและข้อบังคับการทำงานของจำเลยข้อ 26 ระบุว่าโทษทางวินัยมี 3 สถานดังนี้
(1) ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ
(2) ตัดเงินเดือนหรือลดค่าจ้าง และ/หรือไม่ขึ้นเงินเดือนไม่เกินกว่า 3 ปี ติดต่อกัน
(3) พักงานหรือเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พนักงานที่เคยทำงานและถูกลงโทษสถาน (1) และ/หรือ (2)รวม 3 ครั้ง ถือว่าพนักงานผู้นั้นกระทำผิดร้ายแรงซึ่งบริษัทจะลงโทษสถาน (3) ได้ โดยไม่ต้องตักเตือนอีกแต่อย่างใด เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) ดังกล่าวหมายความว่า เมื่อลูกจ้างกระทำผิดเรื่องใดซึ่งไม่ร้ายแรง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วต่อมาได้กระทำผิดเรื่องเดียวกันซ้ำอีก นายจ้างก็มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่กรณีของโจทก์ปรากฏว่า โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่รวม 3 ครั้งแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องร้ายแรง จำเลยจึงลงโทษเพียงการตักเตือนเป็นหนังสือแล้วทั้งสามครั้งตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มากระทำผิดซ้ำคำตักเตือนอีกเป็นครั้งที่สี่แต่จำเลยกลับมาเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุที่เคยลงโทษไปแล้วเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการลงโทษซ้ำความผิดที่ได้ลงโทษตักเตือนไปแล้วอีกการเลิกจ้างจึงมิชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแม้ตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยข้อ 26 วรรคท้าย ดังกล่าวมาแล้วจะมีความหมายว่า การละทิ้งหน้าที่ 3 ครั้ง ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอาจเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนอีกก็ตาม แต่การกระทำผิดข้อบังคับข้อใดจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่จะต้องวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป มิใช่ถือตามข้อบังคับที่จำเลยกำหนด เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้กระทำผิดร้ายแรง และความผิดที่โจทก์กระทำทั้ง 3 ครั้งได้ถูกจำเลยลงโทษตักเตือนไปแล้วดังที่กล่าวมา จำเลยจึงไม่อาจนำเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเท่ากับเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่การกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางจะกำหนด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหาย และเห็นสมควรให้กำหนดจำนวนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามาเสียด้วยในคราวเดียวกัน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share