คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนายตรวจกลประจำโรงจักรดีเซลบางซื่อติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซล โดยมิได้ตรวจดูให้แน่ก่อนว่าคันเร่งรอบเครื่องยนต์คันเปลี่ยนอาการและคันบังคับการไฟฟ้าอยู่ในตำแหน่งที่ว่าง และลงจากรถจักรไปโดยไม่ได้ดับเครื่องยนต์ เป็นเหตุให้รถจักรดีเซลแล่นออกไปโดยไม่มีคนขับ ไปชนคนตายและบาดเจ็บ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท เครื่องตกรางที่ 1 อยู่ในเขตรางที่ 6 ซึ่งในวันเกิดเหตุมีประกาศปิดรางเพื่อซ่อมจึงเป็นทางปิด เมื่อปิดทางแล้วทางนั้นก็อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางที่จะถอดรางออกถอดประแจ ถอนไม้หมอนออกได้ ข้อบังคับและระเบียบการเดินรถพ.ศ. 2524 ข้อ 107(1) ที่กำหนดให้ปิดเครื่องตกรางและกลับประแจให้อยู่ในท่าทางประธานนั้นใช้สำหรับทางเปิดเดินรถเป็นปกติไม่ได้ใช้บังคับแก่ทางปิด เพราะทางปิดนั้นตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถห้ามมิให้ขบวนรถผ่านเข้าไปโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานควบคุมย่านสถานีรถไฟบางซื่อมีหน้าที่ควบคุมขบวนรถไฟต่าง ๆ ที่ผ่านสถานีรถไฟบางซื่อและควบคุมการเข้าออกของหัวรถจักรดีเซลบริเวณโรงรถจักรดีเซล การที่จำเลยที่ 2 เปิดเครื่องตกรางที่ 1 โดยไม่ได้ปิด จึงไม่อยู่ในข้อบังคับและระเบียบการเดินรถดังกล่าว อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 2 เปิดเครื่องตกรางที่ 1 ก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางขอให้เปิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางนำรถผลักเบาบรรทุกอุปกรณ์การซ่อมทางเข้าไปจึงนับว่ามีเหตุผลอันสมควรในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เปิดเครื่องตกรางที่ 1 นั้น รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุได้แล่นออกไปโดยไม่มีคนขับและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้คนตายและบาดเจ็บ ที่ปลายทางสถานีรถไฟหัวลำโพงซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น จึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยตำแหน่งนายตรวจกลโรงรถจักรดีเซลบางซื่อ มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบและสั่งให้ช่างเครื่องทำการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์หัวรถจักรดีเซล มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์รถจักรดีเซลและขับเคลื่อนรถจักรดีเซลเป็นอย่างดี จำเลยที่ 1ต้องระมัดระวังในการติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซล โดยจะต้องตรวจให้ดีว่าตำแหน่งคันเปลี่ยนอาการของเครื่องยนต์รถจักรดีเซลต้องอยู่ในตำแหน่งว่างจึงจะติดเครื่องยนต์และเร่งเครื่องยนต์ได้ และตลอดเวลาที่ติดเครื่องยนต์จะต้องอยู่บนรถจักรควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อป้องกันมิให้หัวรถจักรแล่นออกไปโดยไม่มีผู้ควบคุมอันเป็นระเบียบที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัย แต่จำเลยที่ 1ติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลหมายเลข 4044 ทั้งเครื่องยนต์ที่ 1และที่ 2 โดยไม่ตรวจตราให้ดีว่าตำแหน่งคันเปลี่ยนอาการของเครื่องยนต์อยู่ที่ไหน และจำเลยที่ 1 เร่งเครื่องยนต์ที่ห้องขับที่ 2 ไปตำแหน่งที่ 5 แล้วลงจากรถจักรดีเซลหมายเลข 4044ไป ไม่อยู่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์รถจักรจำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตำแหน่งพนักงานควบคุมย่านสถานีรถไฟบางซื่อ มีหน้าที่ควบคุมขบวนรถไฟต่าง ๆที่ผ่านสถานีรถไฟบางซื่อ และควบคุมการเข้าออกของหัวรถจักรดีเซลบริเวณโรงรถจักรดีเซลบางซื่อ มีหน้าที่เปิดเครื่องตกรางเมื่อได้รับคำขอจะนำรถจักรดีเซลออกจากบริเวณโรงรถจักรดีเซลบางซื่อ และต้องปิดเครื่องตกรางทุกครั้ง เมื่อรถจักรดีเซลผ่านเครื่องตกรางออกไป อันเป็นระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่รถจักรแล่นออกมาโดยไม่มีผู้ควบคุมจะได้ตกราง ณ จุดนี้ แต่จำเลยที่ 2 เปิดเครื่องตกรางให้รถอื่นผ่านไปแล้ว ไม่ปิดเครื่องตกราง อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของการรถไฟดังกล่าว โดยความประมาทของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้รถจักรดีเซลหมายเลข 4044 ที่จำเลยที่ 1 ติดเครื่องยนต์โดยไม่ดูตำแหน่งของคันเปลี่ยนอาการ และเร่งเครื่องยนต์ไว้กับไม่ได้อยู่ควบคุมเมื่อลมได้พิกัดเคลื่อนที่โดยลากจูงเอารถจักรดีเซลอีก 5 คันที่พ่วงติดกันแล่นออกจากโรงรถจักรดีเซลบางซื่อโดยไม่มีคนขับผ่านเครื่องตกรางที่จำเลยที่ 2 เปิดทิ้งไว้มุ่งหน้าไปสถานีรถไฟหัวลำโพง ระหว่างทางชนรถผลักเบาของการรถไฟแห่งประเทศไทยเสียหาย ชนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้มีชื่อพุ่งชนแป้นปะทะของรางที่ 4 สถานีรถไฟหัวลำโพงแล้วพุ่งขึ้นไปบนชานชาลาชน เฉี่ยว ทับ นางโสภา เก้าเอี้ยน นายพิเชษฐ์แสนมาโนตรหรือแสนมาโนช นายสมบัติ สังแคนพรม และนายแสวง ศรีสุขถึงแก่ความตาย นางสาวอรพิน ลำเฟือย นายอุทัย หาโกทา และนายตี๋ ชินนะแสง ได้รับอันตรายสาหัสและนางเต็ม ภาวะหาไหได้รับอันตรายแก่กาย และพุ่งชนทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทรัพย์สินของผู้มีชื่อและหัวรถจักรทั้ง 6 คัน ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300, 390 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 291อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 8 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300, 390 การกระทำเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามมาตรา 291 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ตำแหน่งนายตรวจกลตรีโรงรถจักรดีเซลบางซื่อ วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 8 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุ ซึ่งจอดอยู่บนรางที่ 6 (รางริมบึง) หน้าโรงรถจักรดีเซลบางซื่อและพ่วงกับรถจักรดีเซลยี่ห้องเดียวกันอีก 5 คัน ขณะจำเลยที่ 1 ตรวจเครื่องยนต์ นายวัชรชาญ ศิริสุวรรณทัศน์ วิศวกรผู้ช่วยตรีมาบอกว่าจำเลยที่ 1 ลงบันทึกงานซ่อมรถจักรดีเซลหมายเลข 4118 ผิดขอให้ไปดู จำเลยที่ 1 เดินออกไปดูรถจักรดีเซลหมายเลข 4118ซึ่งจอดอยู่ที่รางที่ 4 สักครู่หนึ่งรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุได้ลากรถจักรดีเซลที่พ่วงอีก 5 คัน แล่นไปทางทิศใต้ผ่านจุดปิดทางเพื่อซ่อมรางชนป้ายแดงประกาศปิดราง ดุนรถผลักเบา 2 คันซึ่งบรรทุกเครื่องมือซ่อมทางติดไป ผ่านเครื่องตกรางที่ 1 และประแจกลไฟฟ้าเลขที่ 33 ก. ที่จำเลยที่ 2 เปิดไว้เข้าสู่ทางประธานที่ย่านบางซื่อ ผ่านสถานีรถไฟบางซื่อพุ่งเข้าชนรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์ที่รางรถไฟตัดกับถนนประดิพัทธ์ผ่านเข้าสู่สถานีรถไฟหัวลำโพงทางชานชาลาที่ 4 ชนแป้นปะทะแล้วพุ่งเข้าชนซุ้มหน่วยบริการเดินทาง ซุ้มที่ทำการธนาคารและร้านจำหน่ายสินค้าพังทับผู้คนหลายคน เป็นเหตุให้นางโสภาเก้าเอี้ยน นายพิเชษฐ์ แสนมาโนตรหรือแสนมาโนช นายสมบัติสังแคนพรม และนายแสวง ศรีสุขถึงแก่ความตาย นางสาวอรพินลำเฟือย นายอุทัย หาโกทา และนายตี๋ ชินนะแสงได้รับอันตรายสาหัส นางเต็ม ภาวะหาไหได้รับอันตรายแก่กาย ข้อวินิจฉัยประการแรกมีว่า รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุแล่นออกไปได้อย่างไรโจทก์มีนายโรจน์ ยอดสวาสดิ์ เป็นพยานเบิกความว่า หลังเกิดเหตุพยานวิ่งไปดูเห็นเครื่องยนต์ในหัวรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุเครื่องยังติดอยู่ พยานเข้าไปในห้องขับที่ 1 แล้วปิดสวิตซ์อี.ซี.ซี.บี เครื่องยนต์จึงดับ นายธวัช เกตุศร ตำแหน่งวิศวกรอำนวยการกองลากเลื่อน และนายแพทย์เกษม อิศรางกูร ณ อยุธยาตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการรถไฟซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จากการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องได้ความว่า สภาพรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุหลังเกิดเหตุอยู่ในสภาพดังนี้คือ ห้องขับที่ 1 หันหน้าไปทางสถานีรถไฟหัวลำโพงคันบังคับการไฟฟ้าอยู่ในตำแหน่งว่าง คันเร่งรอบเครื่องยนต์อยู่ในตำแหน่งว่าง คันเปลี่ยนอาการเดินหน้าถอยหลังไม่มีเมื่อนำคันบังคับเปลี่ยนอาการมาสวมปรากฏว่าอยู่ในตำแหน่งเดินหน้าทวารเปิดปิดลมบังคับการห้ามล้อ (เอ็นยูทูบี) ไม่มี คันห้ามล้อไม่มีสวิตซ์ควบคุมการเคลื่อนรถและเร่งรอบ ซี.ซี.บี อยู่ในตำแหน่งไม่ใช้การ (ออฟ) ในห้องขับที่ 2 คันบังคับการไฟฟ้าอยู่ในตำแหน่งหมายเลข 1 คันเร่งรอบเครื่องยนต์อยู่ตำแหน่งที่ 5 คันเปลี่ยนอาการไม่มี เมื่อนำคันบังคับเปลี่ยนอาการมาสวมปรากฏว่าอยู่ในตำแหน่งถอยหลัง ทวารเปิดปิดลมบังคับการห้ามล้อไม่มี คันห้ามล้อไม่มี สวิตซ์ควบคุมการเคลื่อนรถและเร่งรอบอยู่ในตำแหน่งใช้การ (ออน)ต่อมาได้ร่วมกับร้อยตำรวจตรีเจษฎาพร โพธิ์พระ และพันตำรวจโทไพบูลย์ ศรีหานู พนักงานสอบสวนนำรถจักรดีเซลคันหมายเลข4049 ยี่ห้อยีอีรุ่นเดียวกับรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุมาทดลองโดยจัดให้คันบังคับต่าง ๆ ของรถจักรดีเซลคันที่นำมาทดลองอยู่ในตำแหน่งเดียวกันคันบังคับรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุในสภาพที่ตรวจพบหลังเกิดเหตุ ผลของการทดลองปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4คือเมื่อติดเครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องกระแสไฟฟ้าที่หน้าสัมผัสสะพานไฟประธาน (คอนเท็กพี) จะสูง ใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 3 นาทีอย่างช้าที่สุด 3.40 นาที ลมบังคับการจะมีแรงดันได้พิกัดใช้งานคือ2 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร สะพานไฟประธานจะต่อกันโดยอัตโนมัติและเกิดการสปาร์คหรืออาร์คเป็นประกายไฟกับมีเสียงระเบิดขึ้น สภาพหน้าสัมผัสสะพานไฟประธานชำรุดหลอมละลาย เมื่อตรวจสภาพรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุแล้ว ผลก็ปรากฏว่าหน้าสัมผัสสะพานไฟประธานมีสภาพชำรุดหลอมละลายเช่นเดียวกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าคันบังคับของรถจักรคันเกิดเหตุจะต้องถูกเลื่อนไปอยู่ในตำแหน่ง 5และเปิดสวิตซ์ ซี.ซี.บี ไว้ก่อนที่ลมบังคับการจะได้พิกัด 2กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เมื่อรถจักรคันเกิดเหตุติดเครื่องยนต์ไว้ชั่วขณะหนึ่งจนลมบังคับการได้ 2 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรสะพานไฟประธานจะต่อกันโดยอัตโนมัติและเกิดการสปาร์คหรืออาร์คสภาพหน้าสัมผัสสะพานไฟประธานชำรุดหลอมละลายเป็นเหตุให้ล้อรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุหมุนอย่างรวดเร็วและเคลื่อนที่ออกไปช้า ๆซึ่งเรียกว่าอาการดิ้นของล้อแล้วเพิ่มความเร็วขึ้นตามลำดับเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งพยานบุคคลและเอกสารเชื่อมโยงสอดคล้องกันสมเหตุสมผล มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อกว่าพยานจำเลยซึ่งมีแต่เพียงจำเลยที่ 1 นำสืบลอย ๆ ว่านายวัชรชาญเป็นผู้เปิดสวิตซ์ ซี.ซี.บี เป็นเหตุให้รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุเคลื่อนที่ออกไปได้ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุในขณะที่คันบังคับต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ตรวจพบหลังเกิดเหตุรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุจึงเคลื่อนที่ออกไปได้
ปัญหาที่จะวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายวัชรชาญ ศิริสุวรรณทัศน์ เป็นพยานเบิกความว่าพยานตามหาจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ลงบันทึกให้ช่างซ่อมรถจักรดีเซลหมายเลข 4118 ผิด พบจำเลยที่ 1 ที่บนรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุซึ่งเครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่ พยานขึ้นไปแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วลงไปดูการซ่อมรถจักรดีเซลหมายเลข 4308 ต่อมาตามไปที่รถจักรดีเซลหมายเลข 4118 พบจำเลยที่ 1 กับนายจำลอง เนตรรังษี ช่างอีกคนหนึ่งอยู่บนรถด้วยกัน จำเลยที่ 1พูดกับพยานว่ามีการบันทึกการซ่อมผิดจริง พยานลงจากรถมายืนอยู่หน้าบริเวณโรงจักรทางทิศใต้ได้ประมาณ 1 นาที จึงทราบจากพนักงานรถไฟว่ารถจักรดีเซลคันเกิดเหตุแล่นออกไปโดยไม่มีคนขับ จำเลยที่ 1นำสืบว่า ก่อนติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1ได้ตรวจสภาพห้องขับทั้งสองให้อยู่ในสภาพที่จะติดเครื่องได้ตามระเบียบและคำแนะนำในการใช้รถจักรดีเซลแล้ว หลังจากติดเครื่องแล้ว นายวัชรชาญตามจำเลยที่ 1 ให้ไปดูรถจักรดีเซลหมายเลข4118 โดยรับอาสาจะเฝ้าดูแลรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุให้ จำเลยที่ 1 จึงลงไปดูรถจักรดีเซลหมายเลข 4118 อีกประมาณ 15 นาทีต่อมา นายวัชรชาญตามมา จำเลยที่ 1 สอบถามถึงรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุ นายวัชรชาญไม่ตอบ สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 1 จึงทราบว่ารถจักรดีเซลคันเกิดเหตุเคลื่อนที่ออกไป และนำสืบทำนองว่านายวัชรชาญเป็นผู้เปิดสวิตซ์ ซี.ซี.บี ให้รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุแล่นออกไป โดยมีผู้เห็นชายคนหนึ่งรูปร่างคล้ายนายวัชรชาญกระโดดลงที่สถานีรถไฟบางซื่อ เห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนยิ่งกว่านั้น คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.23 ก็ไม่ตรงกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 โดยในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การไว้ว่า ขณะติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจดูว่าคันเปลี่ยนอาการและคันบังคับการ (คันเร่ง) อยู่ในสภาพใด ทั้งมิได้ให้การว่านายวัชรชาญรับอาสาจะเฝ้าดูแลรถจักรดีเซลคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 1 ด้วย คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวพนักงานสอบสวนบันทึกไว้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 หลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน จำเลยที่ 1ย่อมไม่มีโอกาสปรุงแต่งเพื่อหาข้อแก้ตัว เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1ให้การไปตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุ โดยมิได้ตรวจดูให้แน่ก่อนว่าคันเร่งรอบเครื่องยนต์ คันเปลี่ยนอาการและคันบังคับการไฟฟ้าอยู่ในตำแหน่งที่ว่างและลงจากรถจักรไปโดยไม่ได้ดับเครื่องยนต์เป็นเหตุให้รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุแล่นออกไปชนคนตายบาดเจ็บและทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จึงถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยประมาทตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 6 ปีนั้นหนักเกินไป เพราะเป็นเพียงเรื่องของความประมาทและกรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สมควรกำหนดโทษใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความผิด
ปัญหาที่จะวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่พนักงานควบคุมย่านสถานีรถไฟบางซื่อไม่ได้ปิดเครื่องตกรางที่ 1 เป็นเหตุให้รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุแล่นออกไปก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง จำเลยที่ 1 จะมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งกันฟังได้ว่า วันเกิดเหตุมีการประกาศปิดรางที่ 6 เพื่อซ่อมตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา เป็นต้นไป เครื่องตกรางที่ 1 อยู่ในเขตรางที่ 6ข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2524 เอกสารหมาย ล.1หมวดหนึ่ง บทวิเคราะห์ศัพท์ ข้อ 1(7) กำหนดว่า “ทางปิด”หมายความว่า “ทางตอนใดซึ่งห้ามมิให้ขบวนรถเดินเข้าไปสู่เป็นอันขาด”เมื่อปิดทางแล้วทางนั้นก็อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางที่จะถอดรางออก ถอดประแจ ถอนไม้หมอนออกได้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2524 ข้อ 107(1)ที่กำหนดให้ปิดเครื่องตกรางและกลับประแจให้อยู่ในท่าทางประธานนั้นเป็นข้อบังคับและระเบียบที่ใช้สำหรับทางเปิดเดินรถเป็นปกติหาได้ใช้บังคับแก่ทางปิดไม่ เพราะทางปิดนั้นตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถห้ามมิให้ขบวนรถผ่านเข้าไปโดยเด็ดขาด ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 เปิดเครื่องตกรางที่ 1 โดยไม่ได้ปิด จึงไม่อยู่ในบังคับของข้อบังคับและระเบียบการเดินรถข้อ 107(1) ข้างต้นอย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 2 เปิดเครื่องตกรางที่ 1 จำเลยที่ 2ก็อ้างว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางขอให้เปิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางนำรถผลักเบาบรรทุกอุปกรณ์การซ่อมทางเข้าไป ในข้อนี้แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางจะไม่มีผู้ใดยอมรับว่าเป็นผู้ขอให้จำเลยที่ 2 เปิดเครื่องตกรางก็ตาม แต่ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ก็สมเหตุสมผลรับฟังได้ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางไม่ขอให้เปิดเครื่องตกรางแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปเปิดเครื่องตกราง การที่จำเลยที่ 2เปิดเครื่องตกรางจึงนับว่ามีเหตุผลอันสมควร ในระหว่างที่จำเลยที่ 2เปิดเครื่องตกรางนั้น การที่รถจักรดีเซลคันเกิดเหตุแล่นออกไปโดยไม่มีคนขับและก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง บุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาท ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share