แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อการประมูลโอนขายสิทธิการเช่าที่โจทก์ประมูลได้เป็นไปโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ทราบถึงเงื่อนไขการเช่า โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกล้างได้ เมื่อจำเลยพร้อมที่จะทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาให้โจทก์ได้ แต่โจทก์หาได้ไปติดต่อทำสัญญาและวางเงินค่าประมูลที่ยังค้างอีกตามที่ตกลงไว้ไม่ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
เมื่อราคาค่าประมูลที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ จ. เรียกร้องเป็นค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับโอนสิทธิการเช่าห้องทั้ง 11 ห้อง แต่เมื่อไม่มีทางจะโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ได้ เพราะได้พ้นกำหนดสัญญาเดิมของ จ. ผู้เช่าจากจำเลยที่ 3 เสียแล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทน เพราะราคาค่าประมูลนั้นเป็นค่าตอบแทนสิทธิที่โจทก์จะได้รับโอนสิทธิการเช่า เพราะข้อตกลงในรายงานการประชุมเจ้าหนี้ระบุไว้เพียงว่าถ้าไม่ชำระอีก 75% ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิริบเงิน 25% ที่ชำระไว้แล้วเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขให้อำนาจที่จะเรียกร้องเอาชำระราคาจนเต็มได้
จำนวนเงิน 25% ที่โจทก์วางแก่จำเลยในวันประมูลขายนั้น ในรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงินมัดจำ เพียงแต่กล่าวว่า “การชำระเงิน ผู้ซื้อจะชำระในวันนี้ 25% ส่วนอีก 75% จะชำระภายในวันที่ 3 เดือนนี้ หากผิดนัด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิริบเงิน 25%” ข้อความดังกล่าวนี้แสดงว่าเป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของราคาค่าซื้อ ไม่ใช่มัดจำ จำเลยริบไม่ได้ จะว่าเป็นเบี้ยปรับที่ชำระแล้วก็ไม่ได้ เพราะในขณะที่โจทก์ชำระเงินนั้น ยังไม่มีการผิดนัด จึงเป็นการชำระเบี้ยปรับในขณะที่ยังไม่ผิดสัญญาไม่ได้อยู่เอง
เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา หากจำเลยได้รับความเสียหาย ก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้สิทธิเรียกร้องมาแต่ต้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะริบเงินที่โจทก์วางไว้เป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของราคาที่ชำระให้จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาให้นายจิตร กิจพานิชเช่าที่ดินปลูกสร้างอาคาร มีข้อตกลงให้นายจิตรมีสิทธิอยู่อาศัยหรือให้ผู้อื่นเช่าช่วงต่อไปได้ นายจิตรถูกบริษัทธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพานิชยกรรม จำกัด ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายจิตร จำเลยที่ 1, 3 ร่วมมือจัดให้มีการขายสิทธิการเช่าทรัพย์สินของนายจิตรลูกหนี้ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 3 ได้มีผู้เสนอขอซื้อสิทธิการเช่าตามคำชักชวนของจำเลยที่ 1 หลายราย รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 1ตรวจคำร้องที่มีผู้เสนอราคาซื้อไม่เป็นที่พอใจ จึงประกาศว่าจะทำการขายสิทธิการเช่าโดยวิธีประมูลราคากันด้วยปากเปล่า จำเลยที่ 1 ทำการประมูลด้วยตนเอง โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจและหน้าที่ขายทรัพย์ และปฏิบัติการให้เป็นไปตามประกาศและหวังประโยชน์ที่จะได้รับกำไร จึงเข้าสู้ราคาประมูลด้วยปากเปล่าอีก โจทก์ประมูลได้ 11 ห้อง คิดเป็นเงินรวมกัน 199,400 บาท โจทก์ชำระเงิน 40,350 บาท เป็นเช็คจ่ายเงินสด 5,000 บาท ส่วนที่ค้างจะชำระกันในวันโอน วันรุ่งขึ้นมีผู้มาขอซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์ 2 รายโจทก์ขายให้ไปคนละ 4 ห้อง ๆ 40,000 บาท จะได้กำไรห้องละ 22,000บาท รวม 8 ห้อง ได้กำไร 176,000 บาท ส่วนที่เหลือ 3 ห้องถ้าขายจะได้กำไรอีกเป็นเงิน 66,000 บาท
ต่อมาโจทก์ไปติดต่อทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ปฏิเสธไม่ยอมรับรู้การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อ้างว่าจะทำสัญญาให้ผู้เช่าเดิมเช่าตรงต่อไปกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าเดิมระหว่างนายจิตรกับจำเลยที่ 3 โจทก์ขอรับเงินที่ได้ชำระราคาซื้อส่วนหนึ่งไว้ต่อจำเลยที่ 1 นั้นคืน เป็นอันเลิกสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืนเงินและเลิกสัญญา กลับยืนยันว่าจำเลยที่ 1 สามารถจัดให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 3 ได้ จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ขวนขวายจัดให้โจทก์ได้เข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 3 ตามที่ยืนยันเป็นการละเว้นการอันมิควรเว้นอันเกิดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์เสียสิทธิไม่ได้เข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 3 และริบเงินราคาซื้อส่วนหนึ่งของโจทก์ที่วางชำระไว้เป็นเงิน 45,350 บาทนั้นเสียอีก จำเลยกลับเร่งรัดให้โจทก์นำเงินราคาซื้อสิทธิการเช่าอีกบางส่วนมาส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อีกจนครบ 199,400 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจหรือหน้าที่ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายไปเป็นเงิน 45,350 บาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวร่วมด้วย
ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ยินยอมตกลงให้จำเลยที่ 1 ทำการขายสิทธิการเช่า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยอมทำสัญญาให้โจทก์ จำเลยที่ 3 มีส่วนในการทำความเสียหาย จึงต้องรับผิดร่วมด้วย
ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ทำสัญญาให้โจทก์ได้รับเช่าตึกแถวดังกล่าวมีกำหนดเวลาเช่า 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่าโดยโจทก์ยอมเสียเงินค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยที่ 3 ถ้าไม่อาจให้โจทก์ทำสัญญาเช่า ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินราคาบางส่วนที่จำเลยที่ 1 รับไว้จากโจทก์ในการซื้อสิทธิการเช่าเป็นเงิน 40,350 บาท กับเช็คที่โจทก์อายัดจำนวนเงิน 5,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งค่าเสียหายอีก 242,000 บาท และให้เสียดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายจิตร มิได้กระทำการอันเป็นการละเมิด
นายจิตรได้เช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อก่อสร้างโรงภาพยนตร์และตึกแถวให้เช่าหาประโยชน์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำเป็นต้องเข้าดำเนินการรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของนายจิตรจำเลยที่ 1 ตกลงกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายจิตรยอมให้โอนสิทธิการเช่าได้โดยมีเงื่อนไข มีผู้แสดงความจำนงขอซื้อหลายรายรวมทั้งโจทก์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้โจทก์และบรรดาผู้ซื้อทราบเงื่อนไขของจำเลยที่ 3 โดยละเอียดแล้ว โจทก์และผู้ซื้อบางคนมุ่งมั่นที่จะซื้อให้ได้โดยตั้งใจเสี่ยงภัยในปัญหาภายหน้าเอาเองโจทก์ซื้อได้ 11 ห้อง โจทก์ชำระเงิน 45,350 บาท โดยชำระเป็นเงินสด 40,250 บาท โดยเช็ค 5,000 บาท ขาดไป 4,500 บาท จำนวนที่ขาดและอีก 75 % รวมเป็นเงิน 154,050 บาท จะต้องชำระให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 3 ธันวาคม 2503 ตามข้อตกลงโจทก์กลับผลัดผ่อนขอชำระวันที่ 14 ธันวาคม 2503 ซึ่งโจทก์ก็ไม่ชำระโจทก์บิดพลิ้วได้ขอคืนเงิน 25 % แต่ไม่อาจคืนได้ เพราะโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ 3 ยืนยันที่จะทำสัญญาให้กับโจทก์ตามเงื่อนไขเดิมแต่โจทก์ไม่สมัครใจเพราะต้องการจะให้จำเลยที่ 3 ต่อสัญญาให้อีก 1 ปี อันเป็นการนอกเหนือข้อตกลง จำเลยที่ 1 ว่ามิได้ขอผัดเพี้ยนที่จะพิจารณาคืนเงินไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินและเช็คที่โจทก์อายัด โจทก์มิได้ขายสิทธิการเช่าให้บุคคลภายนอก ถึงโจทก์จะขายสิทธิการเช่าไปทั้ง 11 ห้อง จนได้กำไรถึง 242,000 บาท ก็เป็นเรื่องเสี่ยงขายไปเอง
จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระเงิน 159,050 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 และว่าโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้ำกับคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 1699/2504 ที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นส่วนตัว แต่ศาลแพ่งให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 2 และว่ายอมให้จำเลยที่ 1เข้าจัดการทรัพย์สินของนายจิตร
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า คดีไม่ขาดอายุความ แม้สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายจิตรจะครบกำหนด 10 ปีลง ก็ไม่เป็นเหตุให้นายจิตรหมดสิทธิการเช่าทรัพย์พิพาท การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีล้มละลายนำทรัพย์พิพาทของลูกหนี้ซึ่งศาลยังมิได้ให้ล้มละลายมาประมูลขายเองโดยมิได้สั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกองหมายดำเนินการนั้น ไม่ชอบโจทก์ขอปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เคยทราบเงื่อนไขการเช่าตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง โจทก์ประมูลได้กลับตั้งเงื่อนไขซึ่งขัดต่อกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะยึดหน่วงราคาไว้โจทก์มิได้ผิดนัด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้เงินสดตามเช็ค 5,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2503 ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินราคาบางส่วนที่จำเลยที่ 1 รับไว้จากโจทก์ 40,350 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ได้รับไว้จากโจทก์จำนวนเงิน 5,000 บาทให้แก่โจทก์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ฯลฯ
แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 20,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องแก่โจทก์ นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องคืนเงิน 25 % พร้อมด้วยเช็ค และโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินอีก 75 % ให้จำเลยที่ 1
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า การประมูลโอนขายสิทธิการเช่าที่โจทก์ประมูลได้นี้เป็นไปโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ทราบถึงเงื่อนไขการเช่าว่าถ้าบุคคลภายนอกไม่ใช่ผู้เช่าเดิมซื้อได้จำเลยที่ 3 จะทำสัญญาให้เช่าเพียงวันที่ 12 มกราคม 2504 ตามสัญญาเดิมของนายจิตรเท่านั้น และจำเลยที่ 3 พร้อมที่จะทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาของนายจิตรให้โจทก์และผู้ซื้อได้จนถึงวันดังกล่าวแต่โจทก์หาได้ไปติดต่อทำสัญญาและวางเงินค่าประมูลที่ยังค้างอีก 75 % ตามที่ตกลงกันไม่ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 จะขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินค่าประมูลที่ยังค้างอีก 75 % ให้จำเลยที่ 1 ด้วยได้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ราคาค่าประมูลที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องนี้เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับโอนสิทธิการเช่าห้องทั้ง 11 ห้อง แต่เมื่อบัดนี้ไม่มีทางจะโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ได้ เพราะได้พ้นกำหนดสัญญาเช่าเดิมของนายจิตรเสียแล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทน เพราะราคาค่าประมูลนั้นเป็นค่าตอบแทนสิทธิที่โจทก์จะได้รับโอนสิทธิการเช่า และตามข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานการประชุมเจ้าหนี้ในการขายทอดตลาดสิทธิการเช่าก็มีข้อสัญญาระบุไว้เพียงว่า หากผู้ประมูลได้ผิดนัดไม่ชำระเงินอีก 75 % เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิริบเงิน 25 % ที่ชำระไว้แล้วได้เท่านั้นไม่มีเงื่อนไขให้อำนาจจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกร้องเอาชำระราคาจนเต็มจำนวนได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินค่าประมูลอีก 75 % ที่ค้างชำระจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องคืนเงิน 40,350 บาท พร้อมด้วยเช็คจำนวนเงิน 5,000 บาท อันเป็นจำนวนเท่ากับ 25 % ของราคาค่าซื้อสิทธิการเช่าตึกที่จำเลยที่ 1 รับชำระไว้ให้โจทก์นั้น เงินจำนวน 25 % นี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงินมัดจำ เพียงแต่กล่าวว่า “การชำระเงินผู้ซื้อจะชำระในวันนี้ 25 % ส่วนอีก 75 % จะชำระภายในวันที่3 เดือนนี้ หากผิดนัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิริบเงิน 25 % ได้” ข้อความดังกล่าวนี้แสดงว่าเป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของราคาค่าซื้อไม่ใช่มัดจำ จำเลยจึงริบไม่ได้ และจะว่าเป็นเบี้ยปรับที่ชำระแล้วก็ไม่ได้ เพราะในขณะที่โจทก์ชำระเงินนั้น ยังไม่มีการผิดนัด จึงเป็นการชำระเบี้ยปรับในขณะยังไม่ผิดสัญญาไม่ได้อยู่เอง อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฎว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหากจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายประการใด ก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากโจทก์ได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานนี้มาแต่ต้นในชั้นนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิจะริบหรือไม่คืนเงิน 40,350 บาทกับเช็คจำนวนเงิน 5,000 บาท ที่โจทก์ชำระไว้กับจำเลยที่ 1 ได้
พิพากษายืนในผลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ 1 จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ผิดสัญญาจากโจทก์ใหม่ ถ้าหากมีมูลให้เรียกร้องกันได้