แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในการลักทรัพย์เอาน้ำมันเบนซิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เตรียมถังใส่น้ำมันมาหลายใบ เมื่อดูด น้ำมันเต็ม ถังหนึ่งแล้วจะต้องเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังใหม่ ในการเปลี่ยนสายยางต้องถอด สายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่ ที่ต่อระหว่างปั้ม น้ำมันกับแบตเตอรี่ ขณะเกิดเหตุดูด น้ำมันได้ 4 ถังแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดึง สายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่ เพื่อจะเปลี่ยนยางไปใส่ถังที่ 5 ก็เกิดประกายไฟขึ้นเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ขณะนั้นจำเลยที่ 3 กำลังชะโงกหน้าเข้าไปดู น้ำมันในถังที่อยู่ในรถว่าเต็ม ถังหรือยังเช่นนี้แม้จำเลยที่ 3จะมิได้เป็นคนถอด สายไฟ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2ร่วมกันลักทรัพย์ด้วยวิธีดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทที่จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกระทำด้วย เพราะแบตเตอรี่ เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งวิธีการลักน้ำมันของจำเลยทั้งสองทำให้เกิดไอระเหย ของน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไปเป็นการง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันลักเอาน้ำมันเบนซินพิเศษ500 ลิตร ของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรโชติธนการไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสี่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิด และพาทรัพย์นั้นไป และจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทกล่าวคือ ในขณะที่จำเลยทั้งสี่กระทำการลักทรัพย์นั้นจำเลยทั้งสี่ได้ใช้สายไฟต่อจากขั้วแบตเตอรี่ไปยังเครื่องปั๊มน้ำมัน เพื่อให้เครื่องปั๊มน้ำมันทำงานดูดน้ำมันเบนซินจากถังน้ำมันสู่ถังน้ำมันในรถยนต์สองคัน ซึ่งเป็นพาหนะในการลักทรัพย์ดังกล่าว ปรากฏว่าได้เกิดประกายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ไปจุดระเบิดน้ำมันเบนซินพิเศษจึงเกิดระเบิดลุกไหม้ขึ้น ทำให้เพลิงไหม้น้ำมันเบนซินพิเศษ 500ลิตร อาคารร้านประยางของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรโชติธนการ ยางรถยนต์และอุปกรณ์ในการปะยางของนายสมศักดิ์ อ่อนเกตุกิจ และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 2ข-0955 ของนายวันชาติ จันทร์เขย เสียหายเจ้าพนักงานยึดได้รถยนต์ทั้งสองคันกับถังบรรจุน้ำมันจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัด เนื่องจากเปลี่ยนสภาพเพราะถูกไฟไหม้ กับสายยาง 3 สายปั๊มติ๊ก พร้อมสายไฟ 4 ตัว แบตเตอรี่ 1 หม้อ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะและเครื่องมือในการกระทำผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 225, 335, 336 ทวิประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2,13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ริบของกลาง ให้จำเลยใช้ราคาน้ำมัน 6,725 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 225, 83, 91ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2,13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ฐานลักทรัพย์จำคุกคนละ 6 ปี ฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทจำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี จำเลยที่ 2และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของศาลลดโทาให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมกันใช้ราคาน้ำมัน 6,725 บาทแก่ผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 225 ด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ได้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นในบริเวณปั๊มที่เกิดเหตุโดยไหม้อาคารของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรโชติธนการ ยางและอุปกรณ์ปะยางของนายสมศักดิ์ อ่อนเกตุกิจ และรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ข-0955กรุงเทพมหานคร ของนายวันชาติ จันทร์เขย ซึ่งจอดอยู่ใกล้ฝาปิดถังน้ำมันใต้ดินภายในบริเวณปั๊มน้ำมันดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลักทรัพย์น้ำมันของผู้เสียหายในปั๊มดังกล่าวโดยวิธีการดูดน้ำมันขึ้นจากถังใต้ดินถ่ายใส่ถังซึ่งอยู่ในรถยนต์ดังที่โจทก์นำสืบ สำหรับข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดในข้อหานี้ ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาและถึงที่สุดแล้วเช่นกัน ปัญหามีว่า จำเลยที่ 3จะมีความผิดในฐานนี้ด้วยหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกพันธศักดิ์กาญจนอุดม เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุเบิกความว่าในรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้พบแบตเตอรี่ 1 หม้อ วางอยู่ตรงกลางระหว่างที่นั่งคนขับกับที่นั่งคู่กับที่นั่งคนขับเครื่องปั๊มน้ำมัน 4 ตัว มีสายไฟต่อระหว่างปั๊มน้ำมันกับแบตเตอรี่สาเหตุที่เกิดไฟไหม้พยานมีความเห็นปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นเพราะว่าขณะที่มีการลักถ่ายน้ำมันนั้นไอน้ำมันระเหยกระจายอยู่ทั่วไปเมื่อถูกกับประกายไฟจึงทำให้เกิดการระเบิดและลุกไหม้ขึ้นข้อเท็จจริงปรากฏจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ว่าในการลักน้ำมัน จำเลยเตรียมถังใส่น้ำมันมาหลายใบ เมื่อดูดน้ำมันเต็มถังหนึ่งแล้วจะต้องเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังใหม่ ในการเปลี่ยนสายยางต้องถอดสายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่เพื่อให้ปั๊มติ๊กหยุดทำงาน ขณะเกิดเหตุดูดน้ำมันได้4 ถังแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดึงสายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่เพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่ 5 ก็เกิดประกายไฟขึ้นเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ขณะนั้นจำเลยที่ 3 กำลังชะโงกหน้าเข้าไปดูน้ำมันในถังที่อยู่ในรถว่าเต็มหรือยัง จึงถูกแรงดันจากเพลิงไหม้กระแทกกระเด็นออกมา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นคนถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันมาลักทรัพย์โดยวิธีการเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเพราะแบตเตอรี่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งวิธีการลักน้ำมันของจำเลยทั้งสองทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้นและเป็นการง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเนื่องจากวิธีการในการลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองซึ่งกระทำด้วยความประมาท ก็ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทุกคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นผู้ถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำด้วยจำเลยที่ 3 จึงต้องมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”.