คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเข้าใจดีว่าเหตุลักทรัพย์เกิดวันที่ 2 มิถุนายน 2540การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่2 มิถุนายน 2530 เห็นได้ว่าเกิดจากการที่พิมพ์ผิดพลาดซึ่งวันเวลาที่เกิดเหตุเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้อง กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาเท่านั้น มิใช่ข้อสาระสำคัญ โดยวันเวลา ที่เกิดเหตุหมายถึงวัน เดือน ปี มิใช่หมายถึงเฉพาะชั่วโมง นาที ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้และให้การรับสารภาพ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ จำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ ดังนั้น จะฎีกาโต้เถียงว่ามิได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 67,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(8) วรรคสาม จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 67,000 บาท แก่ผู้เสียหาย สำหรับข้อหารับของโจรให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(7)(8) วรรคสามประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3ประการแรกว่าศาลลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องได้หรือไม่ คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรโดยบรรยายฟ้องว่าเหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 เวลากลางวัน แต่ในคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหนองจอกซึ่งขอฝากขังจำเลยที่ 3 กับพวก มีข้อความระบุว่าเหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2540 เวลาประมาณ 11 นาฬิกาถึง 13 นาฬิกา ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวแล้วทั้งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาได้สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 3 มีข้อความว่า “1. สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจนายสุรชัยหรือกบ พาพรหม จำเลยที่ 2″ ซึ่งตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 2 มีข้อความระบุว่าเหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2540 โดยก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกานายวิเชียรหรือต้อย เย็นยิ่ง จำเลยที่ 1 ได้ชักชวนจำเลยที่ 2ไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจทั้งสองฉบับให้จำเลยที่ 3 ฟังแล้ว จำเลยที่ 3 ก็ไม่คัดค้านรายงานการสืบเสาะดังกล่าว ทั้งได้ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์อีกด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 เข้าใจดีว่าเหตุลักทรัพย์เกิดวันที่ 2 มิถุนายน 2540 การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 เป็นที่เห็นได้ว่าเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด ซึ่งวันเวลาที่เกิดเหตุเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องกล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เพื่อให้จำเลยที่ 3 เข้าใจข้อหาเท่านั้น มิใช่ข้อสาระสำคัญ โดยวันเวลาที่เกิดเหตุหมายถึงวันเดือนปี มิใช่หมายถึงเฉพาะชั่วโมง นาทีดังที่จำเลยที่ 3 อ้าง ทั้งจำเลยที่ 3 ก็มิได้หลงต่อสู้ โดยจำเลยที่ 3ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานลักทรัพย์ได้
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาประการต่อมาว่า จำเลยที่ 3มิได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 3 จะฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์หาได้ไม่เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ลดโทษให้มากที่สุดนั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง เป็นการลดโทษให้ตามกฎหมายสูงสุดอยู่แล้ว ไม่อาจลดโทษให้มากกว่านี้อีกได้ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษให้นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กรณีที่ศาลจะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 3 ได้นั้น ศาลจะต้องลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3ไม่เกินสองปี แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3มีกำหนดสามปี จึงไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยที่ 3 ได้ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share