คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนพนักงานอัยการฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์โจทก์ในคดีแพ่งเรื่องหลังซึ่งเป็นผู้เสียหายไป โดยพนักงานอัยการได้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 โจทก์จึงมีฐานะเป็นคู่ความและต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ราคาทรัพย์ที่จำเลยลักไปอีก ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นยามมีหน้าที่เฝ้าดูแลรถตักดิน การที่คนร้ายถอดเอาอะไหล่รถตักดินของโจทก์ไปหลายรายการในเวลากลางคืนเพราะจำเลยที่ 3 ละทิ้งหน้าที่ไปเป็นเหตุให้คนร้ายถือโอกาสเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์ จึงเป็นการประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่เป็นยามเฝ้าดูแลเครื่องจักรและรถตักดินของโจทก์ ซึ่งนำไปใช้งานในการปรับปรุงไหล่ทางของทางหลวงหมายเลข 4 ซึ่งจอดเก็บไว้ที่บริเวณหน้างานที่หลักกิโลเมตรที่ 48+700 ระหว่างเวลา 16.30 นาฬิกาถึง 7 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นเป็นประจำทุกวัน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2529 เวลาประมาณ2 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอีกหลายคน ได้ร่วมกันลักทรัพย์ถอดเอาอะไหล่รถตักดินของโจทก์ไปหลายรายการ ในชั้นแรกเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าถูกลักเอาไป4 รายการคิดเป็นเงิน 90,000 บาท ในวันเดียวกันนั้น เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดี ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม ส่งฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์ 90,000บาท ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่า อะไหล่รถตักดินคันดังกล่าวถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกลักไปทั้งสิ้นจำนวน 14 รายการ คิดเป็นเงิน 241,032 บาท ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ไม่คอยเฝ้าดูแลรถตักดินคันเกิดเหตุ กลับไปพักอยู่ที่บ้านของชาวบ้านซึ่งไม่สามารถเฝ้ามองเห็นบริเวณที่จอดรถตักดินได้ และเป็นการประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ หรือจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ถอดเอาอะไหล่รถตักดินของโจทก์ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ได้สั่งซื้ออะไหล่ที่เสียหายเพราะการละเมิดดังกล่าวเพื่อซ่อมรถสิ้นเงินไปจำนวน 241,032 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชดใช้เงินจำนวน 241,032 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยและไม่ได้ประมาทเลินเล่อหรือจงใจละทิ้งหน้าที่ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำเนื่องจากโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ราคาทรัพย์ที่สูญหาย 4 รายการเป็นเงิน 90,000 บาท และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ราคาทรัพย์90,000 บาท ให้โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 90,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกลักทรัพย์โจทก์ไปครั้งเดียว และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 962/2530 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว ในคดีดังกล่าวพนักงานอัยการโจทก์ระบุในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายและมีคำขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ราคาทรัพย์สินแก่โจทก์จำนวน 90,000 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43, 44 และ 47 เห็นว่า ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 962/2530ของศาลชั้นต้น ในการฟ้องคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการมีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และมาตรา 44 ในการพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งดังกล่าว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 และมาตรา 47 กำหนดว่าต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 ให้ถือว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 ฉะนั้น การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีอาญาและในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้มีคำขอให้ศาลสั่งคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์ในฐานะผู้เสียหาย จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแทนโจทก์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นคู่ความและต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีส่วนอาญาดังกล่าวด้วย ดังนั้นโจทก์จะรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 3 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ อะไหล่รถตักดินของโจทก์ถูกถอดขณะฝนตกหนัก เมื่อฝนตกก็ต้องหลบฝนเป็นธรรมดา และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 3 จะป้องกันได้ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 มีตำแหน่งเป็นยามมีหน้าที่เฝ้าดูแลรถตักดิน คนร้ายถอดเอาอะไหล่รถตักดินของโจทก์ไปหลายรายการ การถอดเอาอะไหล่ของรถตักดินในเวลากลางคืนนั้นกว่าจะถอดได้แต่ละชิ้นต้องใช้เวลานาน คนร้ายใช้เวลาในการลักทรัพย์ค่อนข้างมากจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์หลังจากคนร้ายเอาทรัพย์ไปแล้ว และทราบจากบุคคลอื่นที่เดินผ่านที่เกิดเหตุเป็นผู้บอกเห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 3 ละทิ้งหน้าที่ไปเป็นเวลานานการที่มีผู้เดินผ่านที่เกิดเหตุได้ในขณะเกิดเหตุแสดงว่าฝนที่ตกในขณะเกิดเหตุมิได้รุนแรงถึงขนาดที่จำเลยที่ 3 ไม่สามารถจะอยู่ในที่เกิดเหตุได้ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 3 ละทิ้งหน้าที่เฝ้ายามไปเป็นเวลานานเป็นเหตุให้คนร้ายถือโอกาสเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์ จึงเป็นการประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์”

พิพากษายืน

Share