คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2503 มาตรา 17 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000บาท ฉะนั้นจึงต้องถืออายุความฟ้องร้อง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)
ฟ้องโจทก์ซึ่งบรรยายว่า ‘ฯลฯ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม2506 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2507 ฯลฯ’ ประกอบข้อความว่า’ฯลฯได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าบางน้ำจืดบางส่วนในท้องที่ตำบลบางสน อำเภอปทิว จังหวัดชุมพร เป็นป่าคุ้มครอง และจำเลยได้ทำลายป่า และตัดฟันไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติรวมเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา โดยมิได้รับอนุญาต ฯลฯ’ ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินที่จำเลยเข้าแผ้วถางและตัดฟันไม้เป็นที่ดินของจำเลยคนหนึ่งมิใช่ที่ป่าสงวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามฟ้อง ลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยคนหนึ่งซึ่งตายระหว่างอุทธรณ์
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุม
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ฯลฯ ระหว่างวันที่ ๑ธันวาคม ๒๕๐๖ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๗ จำเลยแผ้วถาง ตัดฟันไม้หวงห้าม ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตาม ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๑๗ ฯลฯ ซึ่งอัตราโทษตามบทมาตราหนักที่สุดที่โจทก์อ้างมีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ฉะนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕(๓) แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องโดยถือเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำความผิดเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๘ ก็ไม่เกิน ๑๐ ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
สำหรับประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ฯลฯ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าบางน้ำจืดบางส่วนในท้องที่ตำบลบางสน อำเภอปทิว จังหวัดชุมพร เป็นป่าคุ้มครองและจำเลยได้ทำลายป่า และตัดฟันไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติรวมเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา โดยมิได้รับอนุญาต ฯลฯ”และจำเลยให้การว่า “ฯลฯ จำเลยได้ตัดฟันไม้หวงห้ามและเข้ายึดถือครอบครองที่ที่ฟ้องจริง ฯลฯ” แต่ต่อสู้ว่าที่ดังกล่าวเป็นที่ของนางบุญล้อมจำเลยคนหนึ่ง ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆอีกทั้งบุคคล หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share