แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพราะเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 กรณีใดกรณีหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดให้เป็นประเด็นนายจ้างลูกจ้าง โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างหรือไม่การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 เวลา 3.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำการในทางการที่จ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 82-8291 นครปฐม ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ไปตามถนนศรีนครินทร์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังและความเร็วสูงชนร้านขายต้นไม้ประดับของโจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 169,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 169,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แต่เป็นลูกจ้างของบริษัทตั้งเฮงฮวดนครปฐม จำกัด จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ แต่เนื่องจากรถยนต์คันอื่นเปลี่ยนช่องเดินรถตัดหน้าอย่างกะทันหัวจึงหักรถหลบไปทางซ้ายตกคูน้ำชนร้านค้าของโจทก์อันเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน169,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 9 เมษายน 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันวินาศภัย ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ก่อเหตุขึ้น เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อและความเร็วสูงเสียหลักพุ่งเข้าชนร้านค้าของโจทก์ ทำให้สินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 1 เพื่อแก้คดีโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 พิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธเรื่องจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่มิได้ปฏิเสธเรื่องจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จึงต้องฟังตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์จริงพิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดแต่ประเด็นนายจ้างลูกจ้างไม่ได้กำหนดประเด็นตัวการตัวแทน เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ไม่มีประเด็นจะสืบเรื่องการเป็นตัวการตัวแทน เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือเพราะเหตุจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 กรณีใดกรณีหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดให้เป็นประเด็นนายจ้างลูกจ้าง แสดงว่าคู่ความประสงค์กำหนดประเด็นข้อพิพาทความรับผิดเรื่องนายจ้างลูกจ้างเพียงเหตุเดียวส่วนความรับผิดเรื่องตัวการตัวแทนเป็นอันหมดสิ้นไป หลังจากศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้วโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น แม้คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เห็นว่าคู่ความได้สืบข้อเท็จจริงปรากฏและพยานหลักฐานอยู่ในสำนวนแล้วจึงสมควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ซึ่งทางนำสืบโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในฐานะนายจ้าง จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องร่วมกับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์