คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1203/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในขณะที่โจทก์ฟ้อง จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ.2490 ก็ดี แต่ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2510 ประกาศใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 5 บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต นำไปขอรับอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2510 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2511 ซึ่งได้รับการยกเว้นโทษตามกฎหมาย. ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2510 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างเวลาที่กฎหมายให้สิทธิไม่เอาโทษแก่จำเลยด้วย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้จึงชอบแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาคดีนี้ภายหลังที่ล่วงพ้นระยะเวลา 90 วันตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ไม่สำคัญ
(อ้างฎีกาประชุมใหญ่ที่ 889/2503)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตและใช้ปืนดังกล่าวยิงผู้ตายตายโดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. ๒๔๙๐มาตรา ๗, ๗๒ ขอให้ริบปืนกับกระสุนของกลาง
จำเลยให้การว่าปืนของจำเลยมีทะเบียนโดยถูกต้อง จำเลยยิงผู้ตายโดยป้องกันตัว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยยิงเพื่อป้องกันตัวโดยพอสมควรแก่เหตุส่วนปืนจำเลยได้รับอนุญาตให้ซื้อ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีและพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๕ก็ยกเว้นให้จำเลยนำไปขออนุญาตต่อนายทะเบียนได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น แต่พิพากษาแก้ให้คืนปืนและกระสุนของกลางให้จำเลย
โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ขอให้ลงโทษและริบของกลาง
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ดังโจทก์ฎีกาก็ดี แต่ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา ๕ บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตนำไปขอรับอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ได้ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัติฉบับนี้คือตั้งแต่วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๑๐จนถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๑ ซึ่งได้รับการยกเว้นโทษตามกฎหมายศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๐ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างเวลาที่กฎหมายให้สิทธิไม่เอาโทษแก่จำเลยด้วย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้จึงชอบแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาคดีนี้ภายหลังที่ล่วงพ้นระยะเวลา ๙๐ วันตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ไม่สำคัญดังนัยฎีกาประชุมใหญ่ที่ ๘๘๙/๒๕๐๓
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share