คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1203/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมรดกของผู้ถือศาสนาอิสลามอันเกิดขึ้นในศาล ของจังหวัดปัตตานี,นราธิวาส,ยะลาและสตูลนั้น ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกบังคับแทน ป.ม.กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ในการที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่าทรัพย์อะไรเป็นมรดกหรือไม่นั้น จะต้องใช้ ป.ม.กฎหมายแพ่งและพาณิชบังคับเสียก่อน
ผู้ตายทำหนังสือ (นาซา) ยกที่ดินให้จำเลยตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ตาม ก.ม.อิสลามมีว่าการให้ด้วยหนังสือนาซานี้ใช้ได้ที่ดินไม่เป็นมรดกต่อไปตามกฎหมายอิสลามไม่แบ่งมรดกก็ตาม แต่ปรากฎว่าการยกให้ไม่ถูกแบบตาม ป.ม.แพ่ง ฯ เพราะไม่ได้จดทะเบียนที่ดิน จึงยังเป็นของผู้ตายอยู่ในเวลาตายจึงต้องถือตาม ป.ม.แพ่ง ฯ ว่าที่ดินนี้ยังเป็นมรดกของผู้ตายอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ถือศาสนาอิสลาม บัดนี้นางหะยีแวลีเมาะย่าของโจทก์และจำเลยตายลง ทายาททุกคนได้ปกครองทรัพย์มรดกร่วมกันมายังมิได้แบ่งโจทก์ขอแบ่งจากจำเลย ๆ ไม่ยอม จึงต้องฟ้องขอแบ่ง
จำเลยต่อสู้ว่า นางหะยีแวลิเมาะย่า ได้ทำหนังสือนาซา ( หนังสือยกทรัพย์สินตามศาสนาอิสลาม ) ยกทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งนั้น ให้แก่จำเลยผู้เดียว ฯลฯ
โจทก์ยอมรับว่า ผู้ตายทำหนังสือนาซาที่จำเลยอ้างไว้จริง ศาลชั้นต้นจึงงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าหนังสือนาซาที่จำเลยอ้างได้ทำขึ้นถูกต้องตาม ก.ม.อิสลาม มีผลใช้ได้ตาม ก.ม.อิสลาม ทรัพย์รายนี้จึงไม่เป็นมรดกตามกฎหมายอิสลาม โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่ง จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้เกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งต้องใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี,นราธิวาส,ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ ในคดีแพ่งที่เกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกระหว่างอิสลามศาสนิกเป็นทั้งและจำเลย หนังสือนาซาที่จำเลยมีลักษณะเป็นทำนองเดียวกับพินัยกรรม์ ต่างกันแต่กำหนดเวลาให้ทรัพย์เป็นสิทธิแก่ผู้รับก่อนวันผู้ทำหนังสือนาซาตายกี่วันเท่านั้น แต่มีผลเมื่อผู้ทำหนังสือตายเช่นเดียวกัน ข้อความในหนังสือก็มีชัดว่า ยกทรัพย์ทั้งหมดให้จำเลย หนังสือนาซา จึงเป็นคำสั่งให้จัดการทรัพย์ในเมื่อตายเกี่ยวด้วยเรื่องมรดก ซึ่งต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้ ก.ม.อิสลามใน ๔ จังหวัดที่กล่าวมา ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ทรัพย์ที่พิพาทกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ผู้ตายทำหนังสือยกให้เป็นสิทธิแก่จำเลยตั้งแต่ผู้ตายยังไม่ตายฉะนั้นปัญหาที่ว่าการให้โดยมีหนังสือนาซานี้จะใช้ได้หรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องมรดก เพราะเป็นเรื่องให้ในระหว่างมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เมื่อตายแล้ว บทกฎหมายในเรื่องนี้จึงต้องใช้ ป.ม.แพ่งฯ หาใช่กฎหมายอิสลามไม่ เมื่อการยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงใช้ไม่ได้ตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๕๒๕ ทรัพย์รายพิพาทจึงยังอาจเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ ซึ่งโจทก์อาจมีส่วนได้ดังที่กล่าวอ้างมา แต่รูปคดีโต้เถียงในปัญหาข้ออื่นกันอีก
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้ง ๒ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่

Share