คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล จำเลยรับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้วมีหน้าที่ต้องนำไปมอบให้ผู้กู้โดยตรงตามหน้าที่ตามข้อบังคับของโจทก์ แม้จะฟังว่าจำเลยมอบเงินกู้ดังกล่าวให้ผู้อื่นรับไปมอบให้ผู้กู้ จำเลยก็ไม่พ้นความรับผิด เมื่อผู้กู้ไม่ได้รับเงินกู้การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์อนุมัติเงินกู้สามัญให้สมาชิกผู้กู้ จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยรับเงินดังกล่าวไปแล้วไม่นำไปมอบให้ผู้กู้ตามหน้าที่ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน71,268.49 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 33,063.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจำเลยฎีกาว่าผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เพราะไม่ได้ระบุในหนังสือมอบอำนาจให้มีอำนาจฟ้องจำเลย และคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจได้สิ้นสภาพไปก่อนฟ้องจำเลย เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีในข้อนี้ไว้ จึงไม่มีประเด็นที่ได้ยกกันขึ้นว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้น แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ยกขึ้นวินิจฉัยชอบแล้วที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้นได้ความว่า จำเลยได้รับเงินกู้ของนายเอกสิทธิ์และนางพรหมศรีไปจากโจทก์โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจของผู้กู้ให้จำเลยรับเงินกู้แทน เงินดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์อยู่ จำเลยสามารถรับเงินกู้ดังกล่าวไปได้น่าจะเกิดจากความไว้วางใจของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่เห็นว่าจำเลยเป็นถึงเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์แต่เมื่อจำเลยรับเงินกู้ดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว จำเลยมีหน้าที่จะต้องนำเงินกู้ดังกล่าวไปมอบให้แก่ผู้กู้โดยตรงตามหน้าที่ ตามข้อบังคับของโจทก์ เอกสารหมาย จ.9 แม้จะฟังว่าจำเลยมอบเงินกู้ดังกล่าวให้ผู้อื่นรับไปมอบให้ผู้กู้ จำเลยก็หาพ้นความรับผิดไม่เมื่อได้ความว่าผู้กู้ไม่ได้รับเงินกู้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน

Share