คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11994/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ก็ด้วยเจตนาที่จะบังคับให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวทำในคราวเดียวกัน แม้จะเขียนวันที่คนละวันก็ตาม ส่วนการใช้เอกสารทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 ก็ใช้ในคราวเดียวกัน และการปลอมเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวก็เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบกันด้วยเจตนาเดียวคือบังคับตามสัญญาซื้อขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิด 2 กระทง และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก (ที่ถูก ประกอบมาตรา 265) อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ลงโทษฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้กู้ ตามสำเนาสัญญากู้ ซึ่งในสัญญากู้ดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งโจทก์กู้ไป โจทก์ได้นำบ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งหลวง พร้อมที่ดิน 10 ไร่ ให้ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน กำหนดจะนำเงินมาชำระคืนให้จำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 และโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขาย ตามสำเนาสัญญา ในฐานะผู้ขาย มีข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 โจทก์ผู้ขายตกลงขายบ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งหลวง พร้อมที่ดินจำนวน 10 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อเป็นเงิน 1,300,000 บาท โดยสัญญาทั้งสองฉบับจำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียน และลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนและพยาน ส่วนจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้กู้และผู้ซื้อ และจำเลยที่ 1 ได้นำสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งว่า โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท ถึงกำหนดแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงตกลงขายบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำฟ้อง และคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจากพยานหลักฐานไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท และทำสัญญาขายบ้านแก่จำเลยที่ 1 แต่ทางนำสืบของโจทก์รับว่ายังเป็นหนี้กู้ยืมจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 233,000 บาท จึงพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำพิพากษา ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จึงเชื่อว่าโจทก์ไม่ได้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท ตามสัญญากู้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่สืบมารับฟังได้ว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย โดยยังไม่มีการกรอกข้อความ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้กรอกข้อความในสัญญากู้และสัญญาซื้อขายด้วยข้อความอันเป็นเท็จและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยที่ 1 นำสัญญาทั้งสองฉบับไปฟ้องโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ แล้วยังนำไปฟ้องเพื่อให้บังคับโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดิน หากไม่ส่งมอบให้ใช้เงินคืน 1,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามสำเนาคำฟ้อง อันเป็นการไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ถือได้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่สมควรรอการลงโทษได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมเอกสารสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ก็ด้วยเจตนาที่จะบังคับให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวทำในคราวเดียวกัน แม้จะเขียนวันที่คนละวันก็ตาม ส่วนการใช้เอกสารทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 ก็ใช้ในคราวเดียวกันและ การปลอมเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวก็เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบกันด้วยเจตนาเดียวคือบังคับตามสัญญาซื้อขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิด 2 กระทงและลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเห็นว่าโทษที่กำหนดลงแก่จำเลยที่ 1 หนักเกินไป แม้ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษให้เหมาะสมตามสภาพแห่งความผิดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ จำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share