คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1) ตามาตรา 226 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นั้น หมายความว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น ถ้ามิใช่คำสั่งมาตรา 227, 228 แล้วห้ามอุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา แต่ถ้าได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ เมื่อศาลพิพากษาหรือชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว ฉะนั้น ถ้าไม่ได้แย้งไว้ ก็อุทธรณ์คำสั่งนั้นในภายหลังไม่ได้
(2) การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น ของฝ่ายผู้ค้าน เป็นต้นนั้น ไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา 227, 228 และถือว่าเป็นคำสั่งก่อนพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาด ตัดสินคดีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 226
(3) นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจนถึงวันฟังคำสั่งตัดสินชี้ขชาดคดีซึ่งมีเวลาที่จะคัดค้านคำสั่งได้ถึง 10 วันนั้น ถือว่ามีเวลานานพอที่จะโต้แย้งแล้ว จึงอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานไม่ได้
(4) ผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ว่ารับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะสั่งยกคำสั่งชี้ขาดหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วให้พิจารณาพิพากษาใหม่ได้ตามมาตรา 243 (2)
(ข้อ 3 ประชุมใหญ่ครั้งที่ 33/2505)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายสนิท สันติวัตร ทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จึงขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านได้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานของผู้ร้องแล้วสั่งให้รอฟังผลในคดีอาญาเรื่องปลอมพินัยกรรมต่อมาคดีอาญาถึงที่สุด ศาลสั่งงดสืบพยานของผู้คัดค้าน ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสนิทเฉพาะทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ยกคำร้องคัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกให้ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้คัดค้านแล้วสั่งใหม่
ผู้ร้องฎีกาว่า ๑. ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานผู้คัดค้านชอบหรือไม่ ๒. ศาลชั้นต้นตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกโดยฟังพยานและข้อเท็จจริงในคดีอาญาชอบหรือไม่ และ ๓. อุทธรณ์ของผู้คัดค้านต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๖ (๒) หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาข้อ ๓ ก่อน โดยวินิจฉัยว่า ตามมาตรา ๒๒๖ นี้มีความหมายว่า ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น ถ้ามิใช่คำสั่งตามมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ แล้วห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นระหว่างพิจารณา แต่ถ้าคู่ความโต้แย้งคำสั่งนั้น คู่ความที่โต้แย้งก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้เมื่อศาลพิพากษาหรือชี้ขาดตัดสินคดี ฉะนั้น ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้โต้แย้งคำสั่งนั้น ก็อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งนั้นในภายหลังไม่ได้ คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานผู้คัดค้าน กรณีเช่นนี้ ไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา ๒๒๗ หรือ ๒๒๘ และเป็นคำสั่งก่อนมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามมาตรา ๒๒๖
กรณีศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๔ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ครั้นถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๔ ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีให้คู่ความฟัง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้ว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ ศาลฎีกาได้พร้อมกันประชุมใหญ่พิจารณาแล้ว เห็นว่าคู่ความมีเวลานานพอที่จะโต้แย้งคำสั่งศาลที่ให้งดสืบพยานนั้นได้แล้ว แต่มิได้โต้แย้งไว้ ฉะนั้น ผู้คัดค้านจึงอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานไม่ได้
แต่ในฟ้องอุทธรณ์ ผู้คัดค้านได้คัดค้านถึงการที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วด้วยว่าไม่ชอบ อันเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยคดีซึ่งมีสิทธิทำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓ (๒) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะสั่งยกคำสั่งชี้ขาดหรือคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วให้ดำเนินการสืบพยานต่อไปและพิพากษาใหม่ เห็นว่าศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจชอบแล้ว คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป
พิพากษายืน

Share