แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เกิดในประเทศไทย บิดาเป็นคนต่างด้าวและโจทก์ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ต่อมาจำเลยสั่งเนรเทศโจทก์ก่อนพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499 มาตรา 7 ใช้บังคับ คำสั่งเนรเทศดังกล่าวย่อมเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ก่อนมีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) ให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุคคลมีสัญชาติไทย ซึ่งขณะฟ้องโจทก์ยังคงเป็นบุคคลขาดสัญชาติไทยอยู่ แม้ว่าต่อมาได้มีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499 มาตรา 7 ใช้บังคับแล้วก็ดีปัญหาที่ว่า โจทก์จะได้สัญชาติไทยกลับคืนมาหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องเพื่อขอแสดงว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยเพื่อจะให้ยกเลิกคำสั่งเนรเทศเท่านั้น
ย่อยาว
ได้ความว่า โจทก์เกิดในประเทศไทย มีบิดาเป็นคนต่างด้าว และโจทก์ได้รับสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โจทก์เล่นการพนันสลากกินรวบจำเลยจึงสั่งเนรเทศโจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทย และให้เพิกถอนคำสั่งเนรเทศ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าโจทก์มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์ขาดจากสัญชาติไทยแล้ว คำสั่งเนรเทศเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๒ ตาย โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลอนุญาต
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่าตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๖ ทวิ โจทก์ขาดจากสัญชาติไทยไปแล้วในขณะที่จำเลยที่คำสั่งเนรเทศโจทก์ แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญญาชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ เสียแล้วก็ดี ก็หาทำให้คำสั่งเนรเทศโจทก์กลายเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ไม่ เพราะคำสั่งเดิมที่ให้เนรเทศโจทก์นั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และพระราชบัญญัติสัญชาติที่ให้ยกเลิกฉบับหลังนี้ไม่มีบัญญัติเศษอะไรให้มีผลย้อนหลังอันจะกระทบกระเทือนถึงคำสั่งที่ให้เนรเทศโจทก์นั้น ทั้งโจทก์ก็เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๘ มี.ค. ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ใช้บังคับ ฉะนั้น ศาลจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศตามที่โจทก์ขอไม่ได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยนั้น ปรากฎว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนที่ได้มีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ใช้บังคับ ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังคงเป็นบุคคลขาดสัญชาติไทยอยู่
แม้ว่าบัดนี้ได้มีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ใช้บังคับแล้วก็ดี ปัญหาที่ว่าโจทก์จะได้สัญชาติไทยกลับคืนมาหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องเพื่อขอให้ถอนคำสั้งเนรเทศ