คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา56 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลที่มิได้อุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่ที่ทราบคำวินิจฉัย คชก.จังหวัด แต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัย” และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ให้นำมาตรา 56 วรรคสองวรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับแก่การมีคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดโดยอนุโลม”นั้น หมายความว่า หากคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียจะฟ้องหรืออุทธรณ์คำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดต่อศาลต้องฟ้องหรืออุทธรณ์ต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด หรืออย่างช้าต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัย หากไม่ได้ฟ้องหรืออุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดย่อมเป็นที่สุด คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่มีอำนาจฟ้องหรืออุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวได้อีก การที่โจทก์ร้องเรียนต่อ คชก.ตำบลว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อทำนาตั้งแต่ พ.ศ.2524 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน ครั้นวันที่ 19 ตุลาคม 2532 คชก.ตำบลได้มีคำวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้เช่านาตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 21, 63 จึงไม่อยู่ในอำนาจของ คชก.ตำบล ตามมาตรา 13 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด คชก.จังหวัดได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 ยืนยันตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลโจทก์จึงมาฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2533 ซึ่งพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 ที่ คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัย ต้องถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้ยกขึ้นวินิจฉัย แต่ปัญหาดังกล่าวจำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้คดี และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ก็ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา ถือได้ว่ามีประเด็นที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ทั้งปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 อีกด้วย

Share